บทรีวิวหนังสือ Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future (ส่วนที่ 2 The Rise and Consolidation of State/Market Societies)
The Rise of State Societies:
ตัวบทนี้ค่อนข้างละเอียดยิบอีกแล้ว เราขอรีวิวเพียงเสี้ยวเดียว เช่นว่า สังคมที่มีรัฐควบคุมทุกสิ่งอย่างได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนไหน ซึ่งนั่นก็คือเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว จากคำนิยามของคำว่า “Ultrasocial societies” ที่หมายถึง มีนครรัฐต่างๆ (city-states) กับมีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ ผ่านการอยู่ในสังคมเกษตรกรรมที่ก็ใช้เวลาหลายพันปีกว่าจะวิวัฒน์มาสู่สังคมขนาดใหญ่มหึมา (Ultrasociality) วิวัฒนาการของสังคมที่มีรัฐควบคุมเกิดขึ้นค่อนข้างช้า แม้จะมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานถาวรและมีพื้นที่ทำเกษตรมาเป็นเวลากว่า 10,000-12,000 ปีที่แล้ว แต่การสร้างรัฐและเมืองต่างๆ พึ่งจะปรากฎขึ้นมาอย่างเด่นชัดเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้ว และมีจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จากที่เคยมี 2-4 ล้านคน เมื่อ 10,000 ปีก่อน และเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคนในเวลา 5,000 ต่อมา แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนอะไรเยอะ ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรที่ระเบิดขึ้นอีกรอบในช่วงถัดมาอีกไม่กี่พันปี อย่างในช่วงเริ่มต้นของปัจจุบัน (common era เมื่อ 2,000 ที่แล้ว) ที่จำนวนประชากรมนุษย์สูงถึง 200 ล้านคน ซึ่งในช่วงเวลานี้สังคมต่างๆ จะมีผู้ปกครองแบบเด็ดขาด มีระบบราชการ มีการเก็บภาษี มีบทลงโทษทางกฎหมายกับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับสังคมที่พวกเราเผชิญอยู่ทุกวันนี้นับแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา สังคมที่มีรัฐในยุคแรกเริ่มล้วนมีความเปราะบาง เสี่ยงต่อโรคระบาด เสี่ยงต่อการมีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และเสี่ยงต่อการล่มสลายทางการเมือง
ความไม่เท่าเทียมกันและการชอบแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์เอง สำหรับมนุษย์โฮโมเซเปียนส์พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีหลักฐานที่ระบุว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ แม้แต่ในช่วงหลังการหันมาทำเกษตรก็ยังไม่ปรากฎเด่นชัดมากนัก เมื่อสภาพอากาศคงที่มากขึ้นในยุคโฮโลซีน สังคมต่างๆ ในแถบตะวันออกกลางก็ได้หันมาตั้งถิ่นฐานแบบอยู่ที่เดิมมากขึ้น แม้กับชนล่าสัตว์และเก็บของป่าก็บริโภคข้าวป่าเสริมไปด้วย อย่างจากหลักฐานการทำขนมปังในทางภาคคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจอร์แดน เมื่อประมาณ 14,000 ปีที่แล้ว ดังนั้นการหันมาเพาะปลูกพืชเกษตรไม่ได้ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งสังคมที่มีรัฐควบคุมขนาดใหญ่โดยทันที พอช่วงหลังจากหันมาทำเกษตรกรรมเป็นเวลานาน ก็ยังมีช่วงเวลาอีกหลายพันปีของชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แบบสังคมไร้รัฐ (stateless societies) ที่ก็ทำเกษตรบ้างและยังออกหาเสบียงอาหารเองบ้าง
นอกจากนี้แล้ว เกาว์ดียังได้พูดถึงการล่มสลายของอารยธรรมโบราณต่างๆ ในอดีตอีกด้วย และยกตัวอย่างปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่มสลายแตกไปของสังคมต่างๆ ไว้ว่า บ่อยครั้งมันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การล่มสลายฉับพลันของจักวรรดิต่างๆ ชั้นดินพังทลาย การทำเกษตรอย่างเข้มข้นผลเสียจากการทำชลประทานมากเกินไป การตัดไม้ทำลายป่า มีสภาพอากาศแห้งแล้งยาวนาน ดินเปลี่ยนสภาพเป็นดินเค็มสูงขึ้น ในอาณาจักรต่างๆ ของอารยธรรมแรกเริ่ม อย่าง อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ อารยธรรมมายา และอารยธรรมขอมโบราณ หรือ นครวัด (Angkor Wat) เป็นต้น เกาว์ดียกตัวอย่างงานเขียนของ Joseph Tainter: The Collapse of Complex Societies ที่ได้อธิบายลักษณะของการล่มสลายของอารยธรรมในอดีตไว้อย่างเด่นชัด เช่น
- การเพิ่มขนาดของสังคมได้ส่งผลให้สภาพแวดล้อมสื่อมโทรม ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางทหารของสังคมต่างๆ ที่มีรัฐขนาดใหญ่ ได้ส่งผลให้มีการทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้นขึ้น มีการทำระบบชลประทานเยอะจนเกินไป มีดินเค็มมากขึ้น จนดินเสื่อมสภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้ผลผลิตทางเกษตรลดน้อยลง และสถาบันทางการเมืองและสังคมจึงไม่มีความมั่นคงตามมา
- การมุ่งเน้นเรื่องทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อปัจจัยภายนอกทางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
ประวัติศาสตร์ของมนุษย์นับมาตั้งแต่หันมาทำเกษตรกรรมมีวิวัฒนาการที่เหมือนกันอย่างโดดเด่นกับสิ่งมีชีวิตอีกสองชนิด ที่มีการทำเกษตรกกรรมเช่นกัน นั่นก็คือ มด และปลวก ที่ต่างก็เข้าครอบครองระบบนิเวศที่พวกเขาอยู่อาศัยไปทั่วโลก มีการแบ่งงานกันทำที่สลับซับซ้อน มีสายอาชีพต่างๆ และมีการบีบบังคับปัจเจกคน เพื่อสร้างผลผลิตส่วนเกินของกลุ่มใหญ่ พอพึ่งพาการทำเกษตรกรรมได้ในสังคมมนุษย์ที่เพาะปลูกธัญพืช สังคมที่เหลือส่วนใหญ่ก็พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ มีการสร้างเมืองและรัฐ มีการเขียน มีระบบราชการที่สนับสนุนโดยรัฐ มีระบบการแบ่งชนชั้นทางสังคม เป็นต้น สังคมเช่นนี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้ก็เป็นผลมาจากการเข้าแสวงหาผลกำไร การขุดเจาะแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ และการขูดรีดแรงงานจากมนุษย์อีกกลุ่มอย่างไม่หยุดหย่อน การเข้าหาผลกำไรมากเกินไปจากสิ่งแวดล้อม ได้นำไปสู่ความขาดแคลนและความไม่สงบทางสังคม และการเอารัดเอาเปรียบในหมู่คนเอง ก็ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมตามมา
เกาว์ดีได้ตั้งคำถามใหญ่ในตัวบทนี้ว่า แล้วการล่มสลายหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วหรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่ เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้แล้ว ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน จะเร็วหรือจะช้า มันก็ชัดเจนแล้วว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอน การที่จะรอดพ้นจากการล่มสลายได้ เราไม่ควรคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะแก้ไขปัญหาในเรื่องการผลิตอาหาร /การทำให้สภาพอากาศคงที่ /แก้ปัญหาทะเลเป็นกรด และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้โดยอัตโนมัติ เราต้องมีนโยบายร่วม เพื่อมีสิทธิควบคุมองค์กรขนาดใหญ่ของตลาดทุนและรัฐให้ได้!
โปรดติดตามต่อกับบทรีวิวส่วนที่ 3 ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลย:
บทรีวิวหนังสือ Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future (ส่วนที่ 3 Back to the Future)
คุณชอบบทความชิ้นนี้ไหม? ถ้าบทความแนว “มุ่งอธิบายแนวคิดเป็นองค์รวม” มีประโยชน์ต่อคุณอยู่บ้าง สามารถร่วมสนับสนุนผลงานของเราได้ ผ่านการส่งปัจจัยบริจาค (ตามคุณค่าที่คุณได้รับโดยไม่จำกัด) งานเขียนแนวนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่เรามุ่งสร้างความเข้าใจใหม่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้กับผู้คนในสังคม ด้วยการสละเวลาส่วนตนของเราเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงในแบบที่แตกต่างไปจากมุมมองเดิมในอดีต ติดต่อส่งความคิดเห็น หรือ อยากวิเคราะห์วิจารณ์งานเขียนได้โดยตรงที่อีเมล์ [email protected] หรือต้องการส่งปัจจัยบริจาคให้กับโครงการอิสระของเรา โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ “สวนฟื้นฟูวิถียั่งยืน” ได้โดยสแกนคิวอาร์โคดด้านล่างนี้ โครงงานของเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งไม่มีรายได้เป็นประจำ เราขอขอบคุณทุกท่านมากยิ่งที่สนับสนุนผลงานของเรา ทุกการบริจาคถือเป็นแรงผลักดันให้เราได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัย เขียนบทความ แปลงาน และแบ่งปันความรู้ในแบบองค์รวมให้กับผู้คนในสังคมสืบต่อไป!