บทรีวิวหนังสือ Nomads Of The Dawn: The Penan of The Borneo Rain Forest!
เขียนโดย Wade Davis, Ian Mackenzie, Shane Kennedy!
คนปินัน (Penan People) เป็นกลุ่มคนเคลื่อนย้ายถิ่นไปมา และเป็นกลุ่มชนล่าสัตว์และเก็บของป่า (Nomadic people and hunter-gatherer) ที่ยังคงดำรงอยู่เช่นนี้มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนปินันดำรงอยู่และเติบโตกันมาในผืนป่า จึงมีการพึ่งพาพืชพรรณและสัตว์ป่าในชีวิตประจำวันของพวกเขาแทบจะทุกๆ ด้าน พวกเขาจึงมีองค์ความรู้ที่ใกล้ชิดมากกับธรรมชาติ กับที่ดินทำกินของตนเอง และกับทุกชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ความเชื่อทางจิตวิญญาณของพวกเขามีผืนป่าเป็นฐานตั้ง เพราะอาศัยอยู่ในผืนป่าดิบชื้นดั้งเดิม ที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย นั่นก็คือ ผืนป่าฝนบอร์เนียว (Borneo Rain Forest) ทางภาคตะวันออกในประเทศมาเลเซีย
ชาวปินันแห่งแม่น้ำอุบอง (The Nomadic Penan of The Ubong River) ในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาจากการออกไปเยี่ยมเยือน และศึกษาทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองที่รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ.1989 และในปี ค.ศ. 1993 ของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันชื่อว่า เวด เดวิส (Wade Davis) พร้อมคณะ แต่ละบทตอนที่เขียนขึ้นในหนังสือเล่มนี้ได้มาจากการแปลบทพูด ความรู้สึกนึกคิด องค์ความรู้ดั้งเดิม ภูมิปัญญาดั้งเดิมต่างๆ ที่ชาวปินันได้รับมาจากที่ดินและผืนป่าธรรมชาติ และจากตัวแทนที่เป็นผู้อาวุโสและผู้นำกลุ่มของคนปินัน ทุกบทตอนได้สะท้อนคุณค่าและความหมายของการเป็นมนุษย์ ชาวปินันถือเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองกลุ่มสุดท้ายที่ได้ต่อต้านและคัดค้านทุกวิถีทางกับภาครัฐและนายทุนอย่างสุดขีดจริงๆ เพื่อปกป้องดินแดนบ้านเกิดอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ของพวกเขาและของบรรพบุรุษตนเองอีกด้วย
จากการต่อสู้ขัดขวางบริษัทค้าไม้ข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจากทางยุโรป ทำให้ชื่อพวกเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แม้ในสุดท้ายพวกเขาจะพ่ายแพ้ให้กับอำนาจของรัฐบาลและนายทุน และโดนบังคับให้ออกจากผืนป่าในท้ายที่สุดก็ตามที แต่เรื่องเล่าที่ชาวปินันได้สะท้อนมุมมองหลายอย่างมากจริงๆ ให้กับพวกเราในวันนี้ เพื่อได้นำมาตั้งคำถามกันต่อกับความเป็นรัฐชาติ ความเจริญและความพัฒนา และความรุ่งเรืองของอารยธรรมยุคใหม่ที่มันส่งผลให้วิถีชีวิตของมวลมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายและอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของภาครัฐและกลุ่มทุนผู้มั่งคั่งไปทั่วโลก!
ผู้คนที่เรียกขานตัวเองว่าเป็นสมาชิกของโลกที่พัฒนาแล้วได้ปฏิบัติกับกลุ่มชนเผ่า “Tribal people” เป็นเหมือนข้าทาสมาโดยตลอด ทั้งจากการทำให้เป็นทาส การเอาชนะภายใต้อำนาจเข้าครอบครอง ยึดอำนาจ การทำให้เป็นผู้มีอารยธรรม หรือ เปลี่ยนความเชื่อของพวกเขาให้หันมานึกคิดในแบบของสังคมที่มีรัฐ จนกระทั่งถึงตอนนี้เอง ชาวปินันในรัฐซาราวักก็ยังถูกข่มขู่ ถูกต้องขังจำคุก ต่อการปกป้องสิทธิชนเผ่าของพวกเขาเอง!
เป็นระยะเวลากว่าหลายล้านปีที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดล้วนดำรงอยู่มาในแบบเคลื่อนย้ายถิ่นไปมา หรือ Nomads /Wonderers บนโลกอันเก่าแก่ดั้งเดิมใบนี้ บรรพบุรุษในยุคหินของพวกเรา หรือ Paleolithic ancestors ล้วนเชื่อมั่นในพลังอำนาจของสิงห์สาราสัตว์ต่างๆ พวกเขายอมรับการมีอยู่ของเวทมนต์ รับรู้ถึงพละกำลังอันแสนวิเศษของดวงวิญญาณ อาคมของขลัง หรือเวทมนต์ที่เข้ามาอยู่ในความคิดของพวกเขา เพียงแค่ 10,000 ปีที่แล้วที่เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกว่า Neolithic Revolutionและพัฒนาการของเกษตรได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของมนุษย์และโลกไปตลอดกาล การเปลี่ยนสังคมมาเป็นชนเกษตร และการมาถึงของการอาศัยอยู่ที่เดิมเป็นหมู่บ้าน (Sedentary village life) ซึ่งได้นำสู่การเกิดขึ้นของชนชั้นทางศาสนาเป็นครั้งแรก นี่คือจุดจบขององค์ความรู้ดั้งเดิมและหลักความเชื่อทางจิตวิญญาณนั่นเอง!
ตามที่ลัทธิของชนเกษตรได้ละทิ้งสังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าไปนั้น นักบวชและศาสนาจึงเข้ามาแทนที่หมอผี ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ที่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของความแตกแยกกันระหว่างมานุษยชาติและโลกธรรมชาติจึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นมา ผลกระทบที่ตามมาของมุมมองทางโลกเช่นนี้มีอยู่เต็มไปหมดรอบตัวเรา เราทำให้อากาศ แหล่งน้ำ และผืนดินปนเปื้อนสารพิษ ที่ก่อให้สิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติสูญพันธุ์ ชาวปินันทางภาคเหนือของผืนป่าบอร์เนียวคือตัวอย่างของพวกเขาให้กับพวกเราว่า มนุษย์เราทั้งหมดมีความเป็นมาอย่างไร บนความทรงจำของพวกเขาที่ตั้งอยู่บนจุดกำเนิดและแก่นแท้ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดบนโลกใบนี้
ตามที่ผืนป่าหายไป วัฒนธรรมชนพื้นเมืองต่างๆ คือฝ่ายที่ทนทุกข์ทรมานมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้อย่างใกล้ชิดกับผืนดินมาเป็นเวลากว่าพันๆ ปี ทั้งชายและหญิงที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงผืนป่า กลับเลือกที่จะทำความเข้าใจวิถีของผืนป่าแทน ตอนนี้มีชนเผ่าพื้นเมืองเป็นร้อยๆ ชนเผ่าที่กำลังเผชิญกับการทำลาย หรือทำลายล้าง ที่พวกเราเฝ้าเห็นเป็นพยานการสูญเสียภูมิปัญญาที่สั่งสมมานานนับพันปีไปภายในคนเพียงรุ่นเดียว!
ชาวปินันเชื่อว่า ระยะทางและช่วงเวลาที่วัดได้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของกี่กิโลเมตร หรือกี่ชั่วโมง แต่มันวัดจากเรื่องคุณภาพชีวิตในประสบการณ์ของชีวิตเองต่างหาก โดยมีเสียงของแมลงเป็นเครื่องบอกเวลาที่วัดได้ เช่น ฝูงผึ้งจะบินว่อนสองชั่วโมงก่อนจะพลบค่ำ จักจั่นดำส่งสัญญาณไฟในป่าตอนหกโมงเย็นเป๊ะๆ แทบจะทุกวัน วิถีการเคลื่อนย้ายถิ่นของชาวปินันจะกำหนดจากอัตราการโตของต้นปาล์มสาคู หมู่เกาะบอร์เนียวคือเกาะที่ใหญ่มากที่สุดเป็นลำดับ 3 ของโลก มีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหลายสิบวัฒนธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย “ชาว Iban, Bidayuh, Kenyah, Kayan, Marut, Punan, Bisayah, Kelabit, Berawan และชาวปินัน” ทุกวันนี้ชนพื้นเมืองตามชื่อที่กล่าวมารู้จักกันในชื่อกลุ่มที่เรียกรวมกันว่า “ชาว Dayaks” ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรเพื่อยังชีพแบบอยู่ที่เดิม (Sedentary farming) และมีการทำไร่หมุนเวียน (Shifting cultivation) มานานแล้ว ส่วนชนเผ่าชาวปินันเป็นชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ที่มีเรื่องภาษาพูดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนี้ กลุ่มชาวปินันที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก (The western Penan) มีสมาชิกประมาณ 2,200 คนด้วยกัน ตั้งถิ่นอยู่ในเขตอำเภอเบอลากา และทางแม่น้ำสีลัต (Silat river) กลุ่มที่สองและมีสมาชิกสูงกว่าคือ ชาวปินันที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก (The eastern Penan ) มีสมาชิกประมาณ 4,300 คน อาศัยอยู่ทางปากแม่น้ำโบรัม (Boram river basin)
จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1960 ประชากรส่วนใหญ่ของชาวปินันยังเป็นชนเผ่าเร่ร่อน (Nomadic tribes) เกือบทั้งหมด ชาวปินันกลุ่มแรกที่โดนบีบบังคับให้ตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1970 ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังอาศัยอยู่ในผืนป่าบอร์เนียวมาจนถึงช่วงสุดท้ายของศตวรรษ ที่เหลือชาวปินันเพียง 8 ชนเผ่าที่ยังคงเป็นชนเผ่าเร่ร่อนอยู่ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 360 คน ภาพถ่ายในหนังสือเล่มนี้ก็รวมพวกเขาอยู่ด้วย และชาวปินันเหล่านี้ก็เป็นตัวแทนของสังคมชนเผ่าแร่รอน (Societies of Wonderers) ที่หลงเหลือน้อยมากแล้วจากทั่วโลก!
80 เปอร์เซ็นต์ของผืนป่าดิบชื้นบอร์เนียวปกคลุมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์แห่งป่าฝนเขตร้อน เป็นผืนป่าอีกแห่งหนึ่งที่หลายคนเชื่อกันว่าเป็นระบบนิเวศที่ดั้งเดิมและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก“ผืนป่าดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอายุมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะมีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์อีกและเติบโตมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 180 ล้านปีโดยประมาณ” ผืนป่าในภูมิภาคนี้จึงมีความหลากหลายมากที่สุด และล้วนเป็นผืนป่าดึกดำบรรพ์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลก!
หมู่เกาะบอร์เนียวเกิดขึ้นมาจากมหาสมุทรเพียงแค่ 15 ล้านปีที่แล้ว และในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้ายตอนที่ระดับน้ำทะเลลดลงตามที่บริเวณขั้วโลกที่พืดน้ำแข็งได้ขยายตัว ผืนแผ่นดินจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Mainland Southeast Asia) นับมาตั้งแต่ยุคนั้น สภาพอากาศและสภาพทางธรณีวิทยาของหมู่เกะบอร์เนียวยังคงมีความมั่นคงอย่างโดดเด่น อย่าง มีภูเขาไฟระเบิดน้อย มีพายุใต้ฝุ่นน้อย จึงส่งผลให้เกาะบอร์เนียวไม่ถูกรบกวนมาเป็นพันๆ ปี จนกระทั่งศตวรรษนี้ที่มีผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ของมนุษย์ที่เริ่มส่งผลต่อบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำโดยทั่วไปบ้างแล้ว!
สำหรับชาวปินันผืนป่าฝนบอร์เนียวคือสิ่งมีชีวิตที่หล่อเลี้ยงพวกเขาเป็นมาเป็นพันๆ ปี ผืนป่าแห่งนี้ให้พืชผลทั้ง หัวมัน รากไม้ที่ใช้รักษาตัวได้ ใบไม้ที่รักษาโรคได้ ผลไม้และเมล็ดถั่วที่กินได้ พืชสมุนไพรที่ใช้สำหรับออกล่าสัตว์ และขับไล่พลังมืดของสิ่งชั่วร้าย พืชพรรณต่างๆ ที่มีในผืนป่าก็ผลิตน้ำยางที่ใช้ดักจับนกได้ มีต้นที่ผลิตยางพิษเพื่อใช้ทำลูกดอกอาบยาพิษเพื่อล่าสัตว์ ยางไม้ที่หายากเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนของ หรือเครือหวายที่ใช้สานตะกร้า ชนิดใบไม้ที่ใช้ทำหลังคาที่พัก หรือชนิดใบไม้ที่ใช้เป็นเหมือนกระดาษทรายสำหรับทำเครื่องใช้ต่างๆ มีชนิดพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับทำท่อเป่าลูกดอก (Blow pipes) ทำเรือ ทำเครื่องมือต่างๆ และทำเครื่องดนตรีอีกด้วย สำหรับชาวปินัน พืชทุกชนิดเหล่านี้คือของศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้มาด้วยจิตวิญญาณ และเกิดอยู่ในผืนป่าเดียวกันกับชาวปินัน!
ชาวปินันคือนักธรรมชาติตัวยงเลยทีเดียว พวกเขามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผืนป่า พวกเขาไม่เพียงแต่รู้จักหลักการอันซับซ้อนของการผสมเกสรและการกระจายเมล็ดพันธุ์ พวกเขาเข้าใจและคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ป่าต่างๆ ฤดูกาลของผลไม้ป่า และพืชป่าทั้งหมดที่กินได้และกินไม่ได้ พวกเขารู้อีกด้วยว่าอาหารที่ฝูงสัตว์ต่างๆ ชอบกินคืออะไรบ้างและสามรถบอกได้ว่า สัตว์ต่างๆ มักจะเดินผ่านทางใดบ้างในยามค่ำคืน! ตามคำบอกเล่าของชาวปินัน บางคนอื่นๆ ก็มักพูดว่า:
ชีวิตในป่าของพวกเรานั้นยากลำบากสิ้นดี แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับพวกเรา มันไม่ยากลำบากเอาเสียเลย! เหมือนเรื่องการสร้างที่พักก็แสนจะง่ายดาย พอเดินทางไปถึงจุดที่พวกเขาอยากจะสร้างที่พักหรือสร้างบ้าน ตรงที่ที่เหมาะสมและดีสำหรับทำที่พัก มันก็แทบจะไม่มีงานหนักอะไรให้ทำเลย งานทั้งหมดที่พวกเขาต้องทำก็มีเพียงแค่แบ่งคนออกไปหาใบปาล์มส่วนหนึ่ง เพื่อมาทำเป็นหลังคาที่พัก จากนั้นคนอีกส่วนก็ไปตัดไม้ที่ใช้ทำเป็นเสาและคานรับที่จะพยุงน้ำหนักของที่พัก จากนั้นก็ช่วยกันสร้างที่พักกันเอง พอถึงจุดที่จะทำที่พัก แม้แต่เด็กตัวเล็กมากที่สุดก็ช่วยในส่วนที่เขาพอจะทำได้ แต่ละคนออกไปหาไม้ทำฝืน หรือทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องทำ พวกเขาทำงานร่วมกันทุกคน นับไปตั้งแต่ ตัดไม้ต้นเล็กๆ สร้างบ้านพัก โดยมีคุณพ่อที่เป็นคนสร้างโครงบ้าน ส่วนลูกๆ ตัดไม้มาทำเสาและผูกมัดเข้าไว้ด้วยกัน และคุณแม่ก็ขุดดินขึ้นมาทำพื้นไฟ และ “พวกเราคนปินันก็ได้รู้สึกถึงความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเรารู้ว่าชีวิตของพวกเรามีความสุข พวกเรามีความสุขก็เป็นเพราะว่ามีอากาศบริสุทธิ์และที่อยู่อาศัยของพวกเรานั้นก็สวยงาม!”
รัฐบาลบอกว่าพื้นที่ป่าไม้เป็นของรัฐบาล แต่พื้นที่ของแม่น้ำอุบองเป็นของเธอเอง ที่เหล่าชาวปินันอยู่พึ่งพาและอาศัยมาอย่างยาวนาน พวกเขามีทุกสิ่งอย่างที่จำเป็นที่นั่น ที่ดินของเราคือความอยู่รอดของพวกเรา ทำไมเราต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ชาวปินันรู้ว่ามนุษย์เราไม่สามารถสร้างที่ดินได้ แต่ทางรัฐมนตรี “James Wong รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวในยุค 70 ของประเทศมาเลเซียบอกกับคนทั่วโลกว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวปินันทำลายป่ามากกว่าการตัดไม้เพื่อการค้า!” ซึ่งแน่นอนว่ามันผิดกับความเป็นจริง!
เพราะการทำไร่หมุนเวียนถือเป็นระบบเกษตรกรรมประเภทเดียวที่เอื้อประโยชน์ต่อผืนป่า ไม่ใช่ทำลายป่า หากเทียบกับการตัดไม้ทิ้งไปขาย หรือทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะการทำไร่หมุนเวียนจะมีวงจรการตัด การเผา และการเพาะปลูกที่ต้องรอให้พื้นที่นั้นๆ ได้พักฟื้นก่อนเป็นเวลานาน และยังเป็นวิถีเกษตรที่มีการปรับตัวได้สูงในพื้นที่ต่ำในประเทศเขตร้อน การทำไร่หมุนเวียนช่วยกระตุ้นระบบนิเวศ และเป็นกลไกการทำงานของระบบ ฟื้นความสมดุลกลมกลืนกลับคืนให้ผืนป่าธรรมชาติ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชาวดายัคส์ (Dayaks) ถึงได้ทำไร่เช่นนี้มาเป็นเวลาหลายชั่วรุ่นแล้ว!
ในการวัดระยะเวลาของไร่ ก็จะวัดจากอายุของพืชต่างๆ ถ้าพื้นที่ไหนไม่ให้ผลผลิตแล้วก็จะหยุดทำตรงนั้น และปล่อยให้ไร่ฟื้นตัวกลับมาก่อน ที่จริงแล้ว หลังจากช่วงต้นของ 2 ปีแรกของการเพาะปลูกในไร่หมุนเวียนก็จะมีพืชอาหารเกิดเต็มไปหมด และเต็มไปด้วยวัตถุดิบและวัสดุต่างๆ ที่สามารถเก็บไปใช้สอยได้ อย่าง พืชผักสมุนไพร ไม้ฟืน พืชดักปลา พืชย้อมสี พืชไล่แมลง พืชทำความสะอาดตัว วัสดุทำหลังคาที่พัก พืชทำเชือก พืชทำหีบห่ออาหาร หรือของใช้อื่นๆ และพืชทำจักสาน พืชแกะสลัก และที่สำคัญไร่หมุนเวียนที่จะทำใหม่ มักตัดจากผืนป่ารุ่นที่สอง ไม่ได้ตัดทำไร่จากผืนป่ารุ่นแรก หรือจากป่าดั้งเดิม หลักฐานการทำไร่หมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ให้เห็นว่า การทำไร่หมุนเวียนมีความยั่งยืนและมั่นคงเรื่อยมาเป็นหลายร้อยปีทั่วทุกภูมิภาคโดยส่วนใหญ่ จากหลักฐานของ “New York Botanica Garden” แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ชาวอีบัน (Iban) ได้ทำไร่หมุนเวียนบนพื้นที่ทำกินของพวกเขามาเป็นเวลากว่า 300 ร้อยปี ซึ่งมันตรงข้ามกับคำกล่าวของ James Wong เพราะการทำไร่หมุนเวียนทำลายป่าน้อยกว่าและมีความมั่นคงสูงกว่า
ในปี ค.ศ. 1985 ที่รัฐซาราวัก มีไร่หมุนเวียนบนพื้นที่ป่าสมบูรณ์กว่า 40,000 เอเคอร์ เป็นอย่างมาก ในปีเดียวกันการค้าไม้เชิงพาณิชย์ทำลายพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่อยู่บนพื้นที่ป่ากว่า 600,000 เอเคอร์! ต่อมานายกรัฐมนตรีของประเทศในยุคนั้นที่ชื่อว่า Mahathir Mohamed ได้กล่าวไว้ว่า “คุณคิดผิดนะ ถ้าคุณคิดว่าการให้พื้นที่ป่ากับชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว พวกเขาจะอนุรักษ์ต้นไม้ ชนเผ่าพื้นเมืองทำการเพาะปลูกแบบ ตัดถางและเผาทิ้ง (Slash-and burn) และพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมากก็มีแต่การเพาะปลูกเช่นนี้ทั้งหมด แต่การตัดไม้เพื่อการค้า เลือกตัดแต่ต้นไม้ที่โตสมบูรณ์แล้ว และมันทำให้ป่าฟื้นคืนกลับมาอย่างรวดเร็ว” วิธีการทำไร่หมุนเวียนจึงทำลายป่ามากกว่าการตัดไม้เพื่อการค้า! แต่การกล่าวหาชนเผ่าพื้นเมืองเช่นนี้ เป็นการกล่าวหาเสียๆ หายๆ โดยนักวางแวนที่ออกแบบนโยบาย โดยข้าราชการต่างๆ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผลกำไรของการค้าไม้จากผืนป่าเขตร้อนต่างหาก!
James Wong ไม่เชื่อเลยว่าการตัดไม้เพื่อการค้าขายได้ส่งผลร้ายต่อผืนป่า และยังพูดอีกว่ามีการพิสูจน์ไว้แล้วว่า บนพื้นที่ที่ทำการตัดไม้ ป่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาอีกเหมือนเดิม หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี จากงานศึกษาของ UN Food and Agriculture (FAO) และ (WWF) บ่งชี้ไว้ว่า การเลือกตัดไม้เฉพาะจุด หรือ Selective logging บนสันเขาของผืนป่าในรัฐซาราวัก ได้สร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ที่เหลืออยู่หลังจากตัดส่วนหนึ่งไปขายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และทำลายพื้นที่ยังปกคลุมด้วยป่าธรรมชาติไปอีก 46 เปอร์เซ็นต์ และทำลายผืนดินอย่างหนักหน่วงเมื่อผิวดินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ถูกเปิดโล่ง มีงานศึกษาที่คล้ายๆ กันนี้ชี้ให้เห็นอีกว่า เพียงแค่ต้นไม้ล้มเป็น 5 ต้นต่อหนึ่งเอเคอร์ เกือบจะครึ่งหนึ่งของพื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันที่กล่าวไป นอกจากนี้แล้ว ทั้งจากการสร้างถนนเพื่อเข้าถึงจุดตัดไม้ จุดวางไม้ และเส้นทางอื้นๆ ก็ทำลายพื้นที่ป่าไปอย่างถาวรแล้ว 12 เปอร์เซ็นต์ และระยะเวลาที่คาดว่าผืนป่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้อีกครั้ง หลังจากการโดนตัดไม้เพื่อการค้าคือ 40 ปี ไม่ใช่เพียง 5 ปี ตามที่ James Wong กล่าว!
ชาวปินันแห่งแม่น้ำอุบองไม่กินข้าว แล้วทำไมเราต้องเป็นคนปลูกข้าวและทำเกษตร? ผู้คนในเมืองกินข้าวเหมือนบรรพบุรุษของพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจะต้องออกมาทำเกษตร เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือไม่ก็ซื้อกินเอา เพราะตอนนี้ไม่มีสัตวป่าให้ล่าแล้วในที่ดินของพวกเขา หรือไม่มีปลาให้จับแล้ว และแหล่งอาหารทั้งหมดนี้ก็หายไปแล้ว จากผลลัพธ์ของการทำลายผืนป่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชาวปินันไม่ต้องการให้ที่ดินและผืนป่าถูกทำลายไป (กล่าวโดยสมาชิกคนปินัน Asik Nyelit-1988)
ฉันเกิดอยู่ในป่า ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก รัฐบาลมาบอกพวกเราว่า ถ้าเราตั้งถิ่นฐานถาวร พวกเราจะมีชีวิตที่ดีกว่า เราจะมีโรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า นี่คือวิธีการที่รัฐชักจูงให้พวกเราตั้งถิ่น แต่พ่อแม่ของฉันเขาไม่เคยอยู่แบบนี้เลย พวกเขากลัวแม่น้ำ กลัวความร้อน จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาไม่อยากตั้งถิ่นฐานถาวร แรกๆ พวกเขาก็ไม่เอา แต่รัฐบาลโน้มน้าวครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อบังคับให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ที่เดิม ในสุดท้ายพ่อแม่ก็ยอม และรัฐได้พาพวกเขาลงไปอยู่ริมแม่น้ำ (กล่าวโดยสมาชิกคนปินัน Unyang Wan, May 1993)
บ้านที่รัฐบาลสร้างให้ชาวปินันมันก็ดี แต่มันทำให้พวกเรานอนไม่หลับและหิวกันตลอด เพราะมันไม่เหมือนอยู่ในป่า ตอนนที่เราอยู่ในที่พักที่รัฐให้อยู่ พวกเราทำได้เพียงแค่นั่งและมองดูผู้คนที่เข้ามาหาเรา คุณจะเอาอาหารอะไรไปให้พวกเขาก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีเงินซื้อ แต่ถ้าพวกเราอยู่ในป่า เราจะออกหาของกินมาให้แขกผู้มาเยือนได้เยอะมาก!
ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากชาวปินันที่โดนบีบบังคับให้อยู่ในบ้านที่รัฐตั้งให้:
สำหรับพวกเรา ตอนที่อยู่ในป่า ถ้าเราได้กระรอก หรือได้นก แม้ว่ามันจะตัวไม่ใหญ่ แต่พวกเราจะแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม นี่คือวิถีดั้งเดิมของพวกเรา นับมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษแล้ว นี่คือหนทางการดำรงชีวิตของพวกเรา และถ้ามีอะไรก็ตามที่เราหามาได้ ถ้ามันเล็กหรือมีน้อยเกินไป เราจะเอาให้เด็กๆ กิน สำหรับชาวปินันทั้งหมดที่อยู่ในบ้านพักของรัฐบาลตอนนี้ ถ้าคุณไม่ให้เงิน เขาก็ไม่อยากแบ่ง เช่น ถ้าฉันอยู่ในที่พักนั้น และฉันได้หมูป่ามา ถ้าคนไม่ซื้อจากฉัน เขาก็จะไม่ได้กินหมูป่านี้ แต่สำหรับชาวปินันที่อยู่ในป่า นั่นไม่ใช่วิถีของพวกเราเลย ถ้าเราอยู่ในป่า แล้วเราได้หมูป่ามา เราก็จะแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม แม้แต่ผลไม้ เราก็จะแบ่งกันกันอย่างเท่าเทียม หรืออะไรก็ตามที่ได้มาจากข้างล่าง อย่าง เกลือ น้ำตาล เราก็จะแบ่งกัน แต่ในบ้านพักที่รัฐมอบให้ พวกเขาจะเก็บของทุกอย่างไว้กินกันเอง และไม่แบ่งปันกันเลย จะของเล็กๆ น้อยๆ หรือของดีๆ และมีเยอะด้วย พวกเขาก็จะกินที่บ้านพักของเขาเองเท่านั้นพวกเขาจะไม่แบ่งปันกัน
แต่สำหรับพวกเราชาวปินันที่อยู่ในผืนป่า พวกเรากินอาหารโดยไม่ต้องซื้อด้วยเงิน และไม่ต้องขาย พวกเรามีอาการกินกันอย่างเพียงพอ และพวกเราก็กินดีอยู่ดี พวกเราไม่ต้องพึ่งพาการซื้อและการขายเลย! เราอยู่แบบไม่ต้องสร้างที่พักถาวร ผู้คนที่อยู่ในบ้านพัก อย่าง ชาว Kayan ชาว Kenyah ชาว Kelabit ชาวจีน และชาวมาเลย์ กลับไม่มีชีวิตที่ดี เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาการซื้อ แต่ชาวปินันที่อยู่ในป่าล้วนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน เราใช้ชีวิตด้วยความสนุกสนาน หัวเราะร่าเริง และเต็มไปด้วยความสุข ชีวิตของพวกเราสุขสมบูรณ์ นี่คือชีวิตของชาวปินันที่ยังคงอยู่ในป่า บอกเล่าโดยสมาชิกคนปินัน (Remen Paren, ณ แม่น้ำอุบอง เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1993)
“รัฐบาลบอกพวกเราว่า จะเอาความพัฒนาและความก้าวหน้ามาสู่เรา แต่ความพัฒนาที่เราได้เห็นกลับมีเพียง การตัดไม้ ตัดถนน และโยกย้ายแหล่งที่พักของเรา สำหรับพวกเรา สิ่งที่พวกเขาเรียกกันว่า ความก้าวหน้า จึงหมายความเพียงว่า ความหิวโหยอดอยาก การที่ต้องพึ่งพาคนอื่น และการทำให้วัฒนธรรมของเราเสื่อมเสีย รัฐบาลบอกว่ามันคือการสร้างงานสำหรับชนเผ่าเรา แต่งานเหล่านี้จะหายไปพร้อมๆ กับผืนป่า ในเวลาอีก 10 ปีข้างหน้างานเหล่านี้ก็จะหมดไป และผืนป่าที่หล่อเลี้ยงพวกเรามากว่าพันๆ ปี ก็จะสูญหายไปด้วยเช่นกัน ทำไมพวกเราต้องมีงานทำ คุณพ่อและคุณตาของฉันไม่ได้ของานทำจากรัฐบาลเลย พวกเขาไม่เคยถูกว่าจ้าง พวกเขาอาศัยอยู่ได้กับที่ดินและอยู่ได้ด้วยผืนป่า มันเป็นชีวิตที่ดีมาก เรามีเวลาว่างมากมาย แล้วพวกเราก็ไม่เคยอดอยาก”
งานจากบริษัทเหล่านี้ต่างก็เอาเหล่าผู้ชายออกไปจากครอบครัวของพวกเขาเป็นเดือนหนึ่งต่อครั้ง พวกเขากำลังแยกคนที่เป็นศูนย์กลางของครัวครัวและชุมชนของตัวเองไป งานเหล่านี้ทำให้ผู้คนกลายไปเป็นผู้บริโภคทางเศรษฐกิจ ที่พวกเขาตั้งตัวแบบไม่ทัน พอพวกเราต่อต้านปิดถนนไม่ให้บริษัทเข้ามาตัดไม้ แล้วพอถามกับนายตำรวจว่าทำไมพวกเราจะปิดกั้นถนนไม่ได้ล่ะ ตำรวจก็ตอบกลับมาว่า เอกสิทธิ์มันอยู่กับบริษัท เพราะมีคนให้ใบอนุญาตแล้ว ที่ดินจึงเป็นของบริษัท ชาวปินันตอบกลับไปให้นายตำรวจว่า ผู้ชายคนนั้นคือใคร ทำไมพวกเราไม่เคยเห็นเขามาก่อนเลย ถ้าเขาเป็นเจ้าของที่ดินตรงนี้จริงๆ ทำไมเราไม่เคยเจอกับเขาในป่า ตอนที่พวกเราออกล่าสัตว์กันในช่วงกว่า 65 ปีที่ผ่านมา!
ชวนติดตามเรื่องเล่าเก่าแก่ที่ผู้เฒ่าเล่าขานต่อกันมาโดยตลอดมีอยู่ว่า:
กาลครั้งหนึ่งมีสองชายพี่น้อง และมีคุณแม่ที่พึ่งคลอดลูกออกมาเสร็จ แม่ของพวกเขาเอารกในครรภ์ให้สองชายพี่น้องกิน พวกเขากินเสร็จและมารู้เอาทีหลังว่าที่กินเข้าไปนั้นมันคือรกจากครรภ์ของแม่ พวกเขาก็โกรธเคืองกันมาก จนพากันหนีออกไปจากหมู่บ้านเพราะความโมโห และตอนที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านไปแล้ว พวกเขาก็เริ่มคุยกัน ทำข้อตกลงร่วมกัน ที่นั่นมีธารน้ำอยู่ข้างหน้าพวกเขา จึงตกลงกันว่า จะกระโดดข้ามธารน้ำนี้ให้ได้ ใครกระโดดไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ก็จะกลายเสือ และถ้าใครกระโดดแล้วตกลงในน้ำก็จะกลายไปเป็นจระเข้ จากนั้นพวกก็กระโดดทีละคน คนหนึ่งกระโดดข้าไปได้ และอีกคนก็ตกลงในน้ำ จากนั้นจึงคุยกันว่า ตอนนี้เราแยกกัน คนหนึ่งจะอยู่บนบก และอีกคนจะอยู่กับแหล่งน้ำ และเราจะไม่ทำร้ายผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุ แต่ถ้ามีคนทำอะไรผิดต่อพวกเรา เราก็จะจู่โจมและฆ่ากลับได้ และนั่นก็คือเรื่องเล่า เสือและจระเข้เป็นสองชายพี่น้องที่ดีต่อกัน จึงเป็นเหตุผลว่าชาวปินันจะไม่ฆ่าเสือและจระเข้ได้ เพราะทั้งเสือและจระเข้ต่างก็เป็นคนปินันด้วย ในผืนป่าพวกเขาจะไม่ฆ่าเสือ ยกเว้นแต่ว่าเสือจะเข้ามาทำอะไรไม่ต่อพวกเขา จึงจะฆ่าได้ และถ้าคนปินันทำอะไรผิดต่อเสือและจระเข้ คนนั้นก็ต้องยอมโดนเสือและจระเข้ฆ่ากลับได้เช่นกัน (นั่นคือเรื่องที่คนปินันเชื่อถือกัน)
ต้นไม้ต่างๆ หล่อเลี้ยงชีวิตในทุกๆ ด้านที่จำเป็นทั้งหมด นับไปตั้งแต่เป็นรังนอนให้กับฝูงนกเงือกในโพรงไม้ ไปจนถึงเป็นที่ให้กบตัวจิ๋วได้ว่ายน้ำเล่นในพืชอิงอาศัยที่เป็นตัวกักน้ำเอาไว้ ต้นไม้ให้ความอุ่นและเป็นแหล่งอาหาร เป็นทั้งรักษาตัวและยาพิษ เป็นที่พักที่ป้องกันสิ่งมีชีวิตจากความโหดร้ายของพายุฝน สำหรับชาวปินัน ต้นไม้ต่างๆ จึงเป็นตัวแทนของชีวิตนั่นเอง วัฒนธรรมทางวัตถุของชาวปินัน ก็เป็นเช่นเดียวกับกลุ่มคนเคลื่อนย้ายถิ่นกลุ่มอื่นๆ คือประกอบไปด้วยความจำเป็นขั้นพื้นฐานในชีวิต กล่าวคือวัตถุที่พวกเขาเก็บไว้ใช้จะต้องใช้งานได้กับทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ เทคโนโลยีที่พวกเขาใช้จึงเรียบง่ายและประณีตงดงาม และส่วนใหญ่จะเก็บหามาได้จากพืชป่าเป็นหลัก ทรัพยากรอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ หวาย (rattan) ที่พวกเขาใช้เป็นวัสดุสดใหม่สำหรับทำตะกร้า ทำเสื่อ ทำสร้ายข้อมือ สร้อยข้อเท้า ใช้มัดหลังคาและมักของใช้ทั่วๆ ไป ชาวปินันจะเก็บหวายต่างกันเป็นกว่า 25 ชนิดเป็นประจำเพื่อนำมาใช้สอยในแต่ละแบบที่จำเป็น!
ชาวปินันชอบเอาลิงมาอยู่ด้วย หรือบางครั้งถ้าบังเอิญว่ายิงโดนแม่ลิง พวกเขาก้จะเก็บเอาลูกลิงกลับมาเลี้ยงด้วย พวกเขาจึงมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากกับลิง ทุกครั้งที่พวกเขาออกหาอาหาร ชาวปินันจะเอาผลไม้หรือสาคูไปให้สัตว์อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกับลิง อย่างพอเดิมผ่านบริเวณที่มีผลไม้สุก ลิงก็จะปีนขึ้นไปเก็บผลไม้สุกนั้นและทิ้งบางส่วนลงมาให้ชาวปินันเก็บกินอยู่ด้านล่าง นี่คือตัวอย่างของการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน อีกอย่างคือลิงช่วยป้องกันสัตว์ร้าย หรืออันตรายอื่นๆ อีกด้วย เพราะลิงจะรู้ตัวก่อนชาวปินัน และจะส่งสัญญาณเตือนภัยร้ายให้ชาวปินันรู้ก่อนเสมอ
บทสรุปของสถานการณ์ความโหดร้ายทารุณของภาครัฐและนายทุนที่กระทำต่อชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มคนด้วยกันในผืนป่าดิบชื้นบอร์เนียว จากการต่อสู้คัดค้านปิดถนนเพื่อหยุดการตัดไม้เพื่อการค้าของบริษัทข้ามชาติและการส่งเสริมจากรัฐ บนพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหลายร้อยหลายพันคน ดังนี้:
เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ.1987 ชาวปินันและอีกหลายกลุ่มคนพื้นเมืองได้นวมตัวกันต่อสู้คัดค้านกับทางภาครัฐและบริษัทค้าไม้อย่างรุนแรงและดุเดือด ยาวนานเป็นเวลากว่าแปดเดือน มีทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ หญิงและชายล้วนออกมาตั้งแนวปิดกั้นถนน และพร้อมต่อสู้อยู่หลายจุดตรงที่บริษัทเข้าไปตัดไม้และรบกวนที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติของพวกเขา แต่ชาวปินันและคนพื้นเมืองต่างๆ ก็โดนจับกุมกันเยอะมากในปีนั้น แม้จะได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศอย่าง ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐฯ
ต่อมาในปี ค.ศ.1988-1989 คนพื้นเมืองจากหลายแห่งได้เข้ามารวมตัวกันชุมนุมกันมากยิ่งขึ้น และขยายการประท้วงคัดค้านออกไปตามจุดๆ ต่างๆ ที่บริษัทเข้าไปตัดไม้มากขึ้น แต่ก็โดนกรมป่าไม้เข้าจับกุมชาวดายักส์เป็น 128 คน ส่วนใหญ่เป็นคนปินัน ช่วงกลางปี ค.ศ.1989 การเข้าตัดไม้ป่าในรัฐซาราวักเพิ่มมากขึ้นเป็น 700,00 เอเคอร์ต่อปี จนชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มได้มีการรวมตัวกันขึ้นอีกครั้งใหญ่ จากกว่า 19 ชุนชน ประมาณกว่า 4,000 คนที่ได้เข้ามาร่วมกันต่อสู้คัดค้าน จนในท้ายท่สุดก็สามารถหยุดการบุกรุกเข้าตัดไม้ได้เกือบจะครึ่งหนึ่งในรัฐซาราวัก แต่การเข้าจับกุมชนเผ่าพื้นเมืองที่ออกมาคัดค้านครั้งนี้ก็ยังดำเนินต่อไป
ราวปี ค.ศ.1991 ก็มีการเข้าพยายามพูดคุยกันกับรัฐบาลซาราวักอีกครั้ง มีคนปินันกว่า 300 คนที่ได้รวมตัวกันปิดถนนปะท้วง พอข่าวนี้กระจายออกไป ก็มีคนมาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ครั้งนี้มีการทุบตีคนพื้นเมืองถึงจนตายไปก็มี นอกจากนี้แล้วในช่วงปี ค.ศ.1992 ก็ยังมีคนปินันมาตั้งที่พักเพื่อรวมตัวประท้วงอย่างต่อเนื่องตรงจุดที่บริษัทเข้าตัดไม้ ในปี ค.ศ. 1993 ได้รวมตัวกันครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 3 ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่เพื่อหยุดการทำลายล้างบ้านเกิดของทั้งบรรพบุรุษและของพวกเขาเอง มีทั้งหญิงและชายเป็นพันๆ คนเข้ามาสร้างแนวกั้นถนนกันอย่างสงบ แต่เพียง ไม่กี่วันผ่านไป ทหารประจำการก็เข้ามาบีบบังคับให้ชาวปินันหยุดต่อต้านคัดค้าน และได้ทำลายแนวปิดถนนไปด้วย แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาชาวปินันก็สร้างแนวกั้นนั้นขึ้นใหม่อย่างไม่ย่อท้อ จนอีกหลายวันต่อมาก็มีทหารที่พร้อมออกทำศึกออกมาถึง 50 คนแถมยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกบางส่วนและพนักงงานของบริษัทค้าไม้เข้ามาร่วมด้วย โดยใช้แก๊สน้ำตา รถแม็คโคร และเข้าโจมตีชาวปินัน การรวมตัวกันของชาวปินันจึงโดนคุกคามอย่างสู้ไม่ไหว แต่พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะย้ายจุดคัดค้าน เหตุการณ์จึงยืดเยื้อไปมา และอีกประมาณสามเดือนต่อมาก็ปรากฎว่ามีคนพื้นเมืองเสียชีวิตไป 9 คน มีป่วยหนักและหิวโซอีกมากมาย และโดนจับกุมต้องโทษเป็นจำนวนมากผ่านความรับผิดชอบของรัฐบาลเอง!
เราขอแบ่งปันเรื่องเล่าส่งท้ายจากชาวปินันอีกสักหน่อย (บทรีวิวใกล้จบแล้วนะๆ) จากคุณ Unyang Wan ปี ค.ศ. 1993 ชาวปินันเล่าว่า:
ตอนที่เธอเป็นเด็ก คุณแม่ของเธอจะเข้าป่าไปหาสมุนไพรมารักษาตัวให้เธอเวลาเจ็บไข้ หรือถ้ามีคนบาดเจ็บเป็นแผล พวกเขาก็จะไปหายามารักษากันเองได้ และรู้อีกด้วยว่าจะต้องไปหาได้จากตรงไหนในป่า มันต่างกันมากกับตอนนี้ที่พวกเขาโดนรัฐบาลโยกย้ายให้มาอยู่แถวปากแม่น้ำ ซึ่งห่างไกลจากผืนป่าที่พวกเขาเคยดำรงอยู่มา เพราะไม่สามารถเข้าไปหายาสมุนไพรในป่าใหญ่ได้ ถ้าเด็กๆ ป่วยก็ช่วยกันรักษาเองไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่มีเงินไปซื้อยามารักษากัน แต่ก่อนในอดีต ตอนที่ผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์ ทั้งพ่อแม่ก็แค่ออกไปหานกหากระรอก และสัตว์ต่างๆ ที่เด็กชอบกินมาให้ลูกๆ เสมอ แต่ตอนนี้ทุกคนล้วนหิวโหย!
เรื่องเล่าจากชาวปินันอีกคนที่อยากยกมาเป็นบทสะท้อนความคิดไปด้วยกัน เขาเล่าว่า แต่ก่อนแม้ว่าจะไม่มีคุณหมอ ไม่มีใครเอายารักษาโรคมาให้พวกเรา เราก็ยังอยู่รอดกันมาได้ เพราะเรารู้ว่าต้องดำรงอยู่อย่างไร ผืนป่ามียาสมุนไพรให้กับเรา ผืนป่ามีทุกสิ่งอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับพวกเรา ผืนป่าให้ชีวิตแก่ผู้หญิงและเด็กๆ แต่ทุกวันนี้คุณมักจะได้ยินคนคุยกันว่า เดี๋ยวก็มีคนจำต้องตาย เพราะว่าพวกเราไม่ได้ไปหาหมอ ด้วยความที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาล บางทีก็เสียชีวิตกลางทาง “แต่ถ้าพวกเรามีผืนป่า เราก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ เราเยียวยารักษาตัวเองได้ เราเข้าไปหายาสมุนไพรที่ต้องการได้ในผืนป่า”
มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากจะนำเสนอสู่สังคมผ่านบทรีวิวฉบับนี้ก็คือ เรื่องการสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์เวลาออกล่าสัตว์ป่าของชาวปินัน ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนพอควร ด้วยความที่ไม่มีประเพณีในการเขียน ชาวปินันจึงใช้กิ่งไม้แทนสัญลักษณ์ เพื่อสื่อสารกันในผืนป่า หรือเพื่อสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่ออกล่าสัตว์ป่าด้วยกัน โดยใช้เครื่องหมายที่ทำจากกิ่งไม้ จากลักษณะการวางกิ่งไม้ และการตกแต่งสัญลักษณ์ที่บอกข้อความเฉพาะบางอย่าง แต่เครื่องหมายเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นที่เข้าใจร่วมกันทั้งหมดในทุกชนเผ่า แต่ก็มีหลายชนเผ่าที่ใช้ร่วมกันและเข้าใจเครื่องหมายนี้ในป่า กิ่งไม้แทนสัญลักษณ์ (The sign sticks) ชาวปินันเรียกกันว่า “Oroo” พวกเขาใช้เครื่องหมานี้นี้ก็เพื่อแสดงถึงว่ากลุ่มหนึ่งแยกจุดกันตรงไหนและแยกตอนไหน แต่ละกลุ่มดินต่อไปทางไหน ไปไกลไหม ไปยากง่ายเท่าไหร่ และมีอาหารให้ออกไปหาหรือไม่ เป็นต้น ดูตัวอย่างจากภาพด่านล่างนี้:
ดูจากลูกดอกที่เสียบใบไม้ที่พับเข้าหากันด้านบนสุด แสดงว่าหมูป่าตัวหนึ่งโดนฆ่าแล้ว ใบไม้ที่พับครึ่งเสียบไว้ในกิ่งไม้ถัดมา แสดงถึงความหิว ลูกดอกที่เสียบตรงใบไม้ทั้งใบอันถัดมา แสดงว่าได้ยิงนกหลายตัวแล้ว เครือไม้สองกิ่งขนาดเท่ากันที่เสียบไว้ถัดมานั้นเป็นตัวยืนยันว่า เข้าหาอาหารในป่าได้อย่างปลอดภัยไม่มีผู้บุกรุกจากที่อื่น และยังหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวปินันอีกด้วย ส่วนต้นกล้าไม้ต้นเล็กๆ ที่เสียบไว้ถัดมา แสดงถึงบ้าน หรือที่พัก และกิ่งไม้ที่เสียบค้ำไว้จากดินอีกท่อนหนึ่ง จะตั้งไปตามทิศทางเดินนั้นๆ เพื่อชี้บอกว่าคนที่ทำเครื่องหมายนี้เขาเดินต่อไปทางไหน เป็นต้น
การที่จะเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์เช่นนี้ได้ พวกเขาจะต้องมีทั้งความรู้ของแต่ละคนในกลุ่ม และต้องเข้าใจว่าเครื่องหมายนี้จากคนนั้นคนนี้เขาสื่อสารถึงอะไรบ้าง นอกจากเพื่อการออกล่าสัตว์แล้ว พวกเขายังใช้สัญลักษณ์นี้เพื่อช่วยให้กลุ่มคนปินันที่มาช้ากว่าได้เดินทางติดตามนักล่าสัตว์ได้ทันเวลา เป็นต้น
เอาละ เราอาจจะขอจบบทรีวิวไว้เพียงเท่านี้ แต่ต้องขอบอกได้เลยว่าเรื่องราวของคนปินันยังไม่เพียงหมดเท่านี้ ขอเชิญชวนเข้าอ่านเล่มต้นฉบับที่ทั้งผู้เขียนและคนปินันได้ส่งสียงสะท้อนต่อการดำรงอยู่ในผืนป่าธรรมชาติของพวกเขา และการต่อสู้คัดค้านกับภาครัฐและทุนในประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน ที่แม้จะไม่ได้รับความยุติธรรมในท้ายที่สุดก็ตามที แต่คุณค่าและความหมายของหนังสือเล่มนี้ถือเป็นกระจกเงาให้กับสังคมไทยเราในปัจจุบันนี้ได้ดีมากอีกเล่มหนึ่ง ในแง่ของความขัดแย้งและปมปัญหาระหว่างภาครัฐ ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม!
ปล. ขอขอบคุณทุกคนมากๆ ที่เข้าอ่านบทรีวิวหนังสือของเราค่ะ ไว้พบกันใหม่ในบทรีวิวเล่มหน้าน๊า ^^..^^
คุณชอบบทความชิ้นนี้ไหม? ถ้าบทความแนว “มุ่งอธิบายแนวคิดเป็นองค์รวม” มีประโยชน์ต่อคุณอยู่บ้าง สามารถร่วมสนับสนุนผลงานของเราได้ ผ่านการส่งปัจจัยบริจาค (ตามคุณค่าที่คุณได้รับโดยไม่จำกัด) งานเขียนแนวนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่เรามุ่งสร้างความเข้าใจใหม่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้กับผู้คนในสังคม ด้วยการสละเวลาส่วนตนของเราเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงในแบบที่แตกต่างไปจากมุมมองเดิมในอดีต ติดต่อส่งความคิดเห็น หรือ อยากวิเคราะห์วิจารณ์งานเขียนได้โดยตรงที่อีเมล์ [email protected] หรือต้องการส่งปัจจัยบริจาคให้กับโครงการอิสระของเรา โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ “สวนฟื้นฟูวิถียั่งยืน” ได้โดยสแกนคิวอาร์โคดด้านล่างนี้ โครงงานของเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งไม่มีรายได้เป็นประจำ เราขอขอบคุณทุกท่านมากยิ่งที่สนับสนุนผลงานของเรา ทุกการบริจาคถือเป็นแรงผลักดันให้เราได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัย เขียนบทความ แปลงาน และแบ่งปันความรู้ในแบบองค์รวมให้กับผู้คนในสังคมสืบต่อไป!