เกษตรกรรม​แบบไม่กระทำ​

เกษตรกรรม​แบบไม่กระทำ​

เกษตร​กรรมแบบไม่กระทำ​ (Do-nothing​Farming) คืออะไร​ บางคนอาจจะถามขึ้นว่า​ แล้วทำเกษตร​แบบไม่กระทำมันจะได้อะไรกัน? น่าจะได้ไม่คุ้มเสียนะ! งั้นก็มาอ่านดูความหมายและแนวคิดตามหลักทฤษฎี​กันก่อนว่าเกษตร​กรรมเช่นนี้คืออะไร

เกษตร​กรรมแบบไม่กระทำ” ​ หมายถึง​ การทำเกษตรด้วยวิธีการ​ “ลดการกระทำ”  ลดเทคนิคและหลักการในการทำเกษตร ลดการจัดการหรือการออกแบบ ลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป​  ลดการทำงานของเราลง​ ​และไปจนถึงขั้นที่ว่า​มีงานที่ต้องทำน้อยสุดในระยะยาวเพื่อปล่อยให้เป็นไปตามขบวน​การทางธรรมชาติถือเป็นการทำเกษตร​ด้วยวิธีเรียบง่ายที่สุดด้วยการร่วมมือกับสภาพแวดล้อม​ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ​ นั่นเอง​ แต่ไม่ได้มีความหมายว่าไม่กระทำการใดๆเลยตามชื่อที่เรียกนะ​ แต่จะเน้นกระทำในส่วนที่เป็นหน้าที่ของเราเท่านั้นที่อยากจะได้ผลผลิตที่ดีจากการทำเกษตร​แนวนี้​  กล่าวคือการทำเกษตร​แบบไม่กระทำจะเป็นไปได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่​ ใครก็สามารถ​ทำได้ทั้งนั้น​ ฟังดูแล้วมันก็น่าสนใจนะ​  ทำเกษตร​แบบลดงานแถมยังมีผลผลิต​ที่มีประสิทธิภาพ​สูงอีกต่างหาก

แต่ก็มีข้อแม้ว่า: เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับการเพาะปลูก​พืชผลหรือผลไม้​ คุณก็จะต้องอยู่ดูแลที่ดินแปลงนั้น​ ดูแลเอาใจใส่สิ่งที่คุณเพาะปลูก​ไว้​ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และลงมือปฎิบัติ​จริงจากแรกเริ่มจนถึงเวลาที่พืชผลให้ผลผลิตและก็เริ่มต้นกระบวนการอีกครั้งไปเรื่อยๆ​ แต่การทำลายธรรมชาติ​แล้วก็ทิ้งไปถือเป็นการกระทำที่อันตรายและถือว่าเป็นความไม่รับผิดชอบ

แนวคิดเกษตร​กรรมแบบไม่กระทำนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งจากแนวคิดหลักของ​ คุณ​ มาชาโนบุ​ ฟูกูโอกะ​ ​(Masanobu Fukuoka)  นักปราชญ์​ชาวญี่ปุ่น​ที่ได้ผันชีวิตของตัวเขาจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์​ในห้องทดลองออกสู่การปฏิบัติ​จริงที่สวนไร่นาบนภูเขาของเขาตามหลักการเดียวกันของลัทธิเต๋าที่เรียกว่า “อู๋เว่ย” (Wu Wai) หมายถึง ความไร้เจตนา ความเป็นธรรมชาติ และความเรียบง่าย กับสมบัติสามประการ ได้แก่ ความเมตตา  ความมัธยัสถ์ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเขาได้นำมาใช้เป็นเทคนิคการทำเกษตร​กรรมแบบไม่กระทำหรือเกษตร​กรรมธรรมชาติ​มาเป็นเวลากว่า​ 30​ ปี​ แล้ว​  และเขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวทางแห่งเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ​ (natural​-farming) และได้มีการแปลถ่ายทอดเป็นฉบับภาษาไทยแล้วตั้งแต่ปี​ 2530  และโด่งดังมาเรื่อยๆจนถึง​ ณ​ เวลานี้​ ยังมีคนรู้จักและแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กันและกันตลอดมา​

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า​   “การปฏิวัต​ิยุคสมัย​ด้วยฟางเส้นเดียว:​ ทางออกของเกษตรกรรมและอารยธรรม​มนุษย์”  (The​ One-Straw Revolution)​ และหนังสือเล่มนี้เองที่จะทำให้เราได้เปลี่ยนความคิดและทัศนคติ​ของตัวเราไปและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยยวกับ​ “เกษตรกรรมอย่างแท้จริง” และการ​อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน​กับธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม​ หนังสือเล่มนี้ยังถือเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาระบบ​ทางการเกษตร​ในปัจจุบั​นได้อย่างชัดเจนเพื่อที่จะยังสามารถ​ทำการเกษตร​ได้ในอนาคตถ้าหากว่าเราจะนำแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติ​ดูจริงๆ

โดยคุณ​ ฟูกูโอกะ​ กล่าวว่า: เป้าหมายสูงสุดของการทำเกษตร​กรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล​ แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์​แห่งความเป็นมนุษย์​ เขามองการทำเกษตร​ธรรมชาติ​เป็น​ (มรรควีถี)​ หมายถึงแนวทางแห่งจิต​ จากคำพูดที่ว่า​ “การอยู่ที่นี่​ ดูแลทุ่งนาเล็กๆด้วยความรู้สึกที่เป็นอิสระ​ในแต่ละวัน​ทุกๆวัน​ นี่คือวิถีดั้งเดิมของเกษตรกรรม”  งานเกษตร​กรรมซึ่งมีความสมบูรณ์​เป็นหนึ่งเดียวจะหล่อเลี้ยงบุคคล​หนึ่งทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ​ ​เราไม่ได้มีชีวีตอยู่ได้ด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว  เกษตร​กรรมแบบธรรมชาติ​ของ​ ฟูกูโอกะ​ ประกอบด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

 

  • ไม่ไถพรวนดิน
  • ไม่ใส่ปุ๋ย​ ไม่ต้องทำปุ๋ยอินทรีย์​ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
  • เขาไม่กักน้ำในนาข้าวระหว่างการเพาะปลูก
  • ดินในที่นาของเขาไม่เคยถูกไถพรวนมาเป็นเวลากว่า​ 25​ ปี​ แต่ผลผลิตข้าวของเขาก็ได้เท่ากันเลยกับที่นาที่ถูกไถพรวนดินและใส่ปุ๋ย
  • วิธีการเพาะปลูกจะ​ใช้แรงงานน้อยกว่าวิธีการเกษตร​แบบอื่นๆและไม่ก่อมลภาวะและไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
  • การทำเกษตร​กรรมด้วยการประสานร่วมมือกับธรรมชาติ​ ยิ่งกว่าการพยายามที่จะ​ “ปรับปรุง” ธรรมชาติ​อย่างผู้มีชัยเหนือกว่า
  • แทนที่จะมีการไถพราวดินเพื่อกำจัดวัชพืชเขาเรียนรู้ที่จะควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดิน​ จำพวกถั่ว​ เช่น​ ถั่วไวท์​ โคลเวอร์​ และฟางข้าว​ สำหรับปกคลุมวัชพืช​ไม่ให้โตเร็วกว่าพืชผลที่เขาพาะปลูกและเมื่อพืชผักเริ่มเติบโตเขาก็จะเข้าไปรบกวนพืชผักน้อยลง​ (กล่าวคือเขาปล่อยให้พืชผักที่เขาปลูกดูแลกันเอง)

ฉะนั้นแล้วก็มาดูรายละเอียด​เกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวกันต่อเลย

เกษตร​กรรมธรรมชาติ​ประกอบด้วย​ 4  หลักการ​ ดังนี้

1.ไม่มีการถางหรือไถพรวนดิน​ ​คือพื้นฐานของเกษตร​กรรมธรรมชาติ​ เนื่องจากพื้นดินมีการไถพรวนเองตามธรรมชาติ​อยู่แล้วด้วยการเข้าแทรกซอนของรากพืชผัก​รากต้นไม้และการกระทำของพวกจุลินทรีย์​ทั้งหลาย​ สัตว์​เล็กๆที่อาศัย​ในดิน​และที่สำคัญสุดคือ​ ไส้เดือนนั่นเอง

2.ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือทำปุ๋ยหมัก​ การที่มนุษย์​นำเอาสารแปลกปลอมใส่ลงไปในดินก็อาจจะเกิดความเสียหายของสภาพ​ดิน​ เช่นว่า​ หน้าดินขาดความสมบูรณ์​ ดินเปลี่ยนสภาพ​ เช่น​ ดินจืด​ แต่ถ้าปล่อยดินให้อยู่ในสภาพของมันเองดินก็จะรักษาสภาพความสมดุลของตัวเองไว้ได้ ปุ๋ยเคมีที่ใช้กันทั่วไปจำนวนมากๆ​ เช่น​ แอมโมเนีย​ ซัลเฟต​ ยูเรีย​ ซุปเปอร์​ฟอสเฟต​ และชนิดอื่นๆ​ พืชผักจะดูุดซึมสารพวกนี้ไปใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น​ ที่เหลือนอกนั้นจะถูกชะลงสู่ลำธารและแม่น้ำและในที่สุดก็ไหลลงสู่ทะเล​ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบไปยังสิ่งมีชีวิต​ที่อาศัยอยู่ในน้ำทุกชนิด ดังนั้นจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีดังกล่าว

3.ไม่มีการกำจัดวัชพืช​ ไม่ว่าจะเป็นการถางหรือการใช้ยาปราบวัชพืช​ เพาะว่าวัชพืชก็มีความสำคัญในการสร้างความสมบูรณ์​ให้แก่ดินและช่วยให้เกิดความสมดุล​ในสิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา​ หากจำเป็นต้อง​ “ควบคุม” วัชพืชแต่ไม่ต้อง​ “กำจัด” การใช้ฟางข้าวคลุมดิน​หรือเศษใบไม้แห้งคลุมดินและการปลูกพืชคลุมดิน​จำพวกถั่วต่างๆ​ เช่น​ ถั่วดิน​ ถั่วเขียว​ ถั่วแดง​ ฯลฯ​ ที่มีความสามารถ​ในการตรึงไนโตรเจน​สู่ดินปลูกปนกันไปกับพืชผัก​ แค่นี้ก็จะหายห่วงเรื่องวัชพืชหรือศัตรู​พืชได้

4.ไม่มีการใช้สารเคมี​ เมื่อพืชผักหรือผลไม้อ่อนแอลงก็เป็นเพราะเกษตรกร​ได้กระทำผิดกระบวนการ​ทางธรรมชาติ​ เช่น​ การไถพลิกหน้าดิน​ การใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไป​ แต่ในระบบของธรรมชาติ​ไม่พบแมลงชนิดใดที่ก่อปัญหาจนต้องใช้สารเคมีไปกำจัด​ แต่เมื่อมีการทำเกษตร​กรรมแบบใหม่ที่ใช้สารเคมีอย่างหนักก็เลยจำเป็นต้องใช้สารเคมีตลอดไป

​ “แต่ทางออกของปัญหานี้ก็คือ​ การหยุดใช้สารเคมีทุกชนิด​ ปลูกพืชผักผลไม้รวมถึงพืชคลุมดินปะปนกัน​ไป​ ปลูกพืชผักและผลไม้พื้นบ้านหรือพืชผักและผลไม้ป่าเพราะมีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรคเชื้อราและแมลงต่างๆได้ดี​  ปลูกสมุนไพรร่วมกันกับพืชผักต่างๆเพื่อลดปัญหาแมลงและเชื้อโรคได้เช่นกัน”

จากนั้นเพียงแค่ต้องรอจนกว่าสภาพ​ดินจะได้มีความสมดุล​ขึ้นอีกครั้งพืชผักและผลไม้เติบโตแข็งแรงและออกดอกออกผลตามฤดูกาล​ ความสมบูรณ์​ของระบบนิเวศ​ก็จะกลับมาพร้อมกับความสมบูรณ์​ของสิ่งแวดล้อม​ เมื่อเวลานั้นมาถึง​ สารเคมีก็จะไม่มีความจำเป็นต่อเกษตรกร​อีกต่อไป

เมื่อคุณลองนำเอาแนวทางดังกล่าวข้างต้นไปปฏิบัติ​ดูคุณก็จะพบว่ามีวิธีการทำเกษตร​อยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่มีความจำเป็น​ และคุณก็จะพบว่าปัญหาด้านล่างนี้จะทะยอย​เลือนหายไปด้วย​   อาทิเช่น

 

  • ปัญหาเรื่องการใช้ปปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์จะหมดไป
  • ปัญหาเรื่องการใช้ยากำจัดแมลงหรือวัชพืชต่างๆจะหมดไป
  • ปัญหาด้านการลงทุนและลงแรงมากจนเกินไปอย่างไม่จำเป็น​ จะลดน้อยลงเรื่อยๆ
  • ปัญหาด้านสุขภาพ​ของมนุษย​์และสุขภาพ​ของสิ่งแวดล้อมในระยะยาวก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้
  • ปัญหาทางด้านการก่อให้เกิดสภาวะโลก​ร้อน​หรือมลพิษ​ต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น
  • ปัญหาด้านความมั่นคงและยั่งยืนทางการเกษตร​ก็มีทางออกเช่นกัน
  • ปัญหาด้านความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม​ที่เราอยู่ก็จะหมดไป​ เช่นว่า​ ถ้าเพื่อนบ้านคุณไม่เห็นด้วยเรื่องการทำเกษตร​แบบธรรมชาติ​ แต่ระหว่างการกระทำตามแนวทฤษฎี​นี้คุณจะพบว่ามันไม่มีเหตุผลเอาซะเลยที่เพื่อนบ้านจะมาว่าให้เราเพราะว่าเขายังไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงดีกว่า
  • ปัญหาด้านความท้อแท้หรือเบื่อหน่ายก็ไม่เหลือให้รู้สึกเลย​เพราะว่าคุณก็จะสนุกอยู่กับพืชผักและผลไม้ที่คุณปลูกไว้เมื่อคุณเห็นวิวัฒนาการ​ของพืชผลของคุณเองแล้วล่ะก็คุณก็จะมีความสุขและตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นดอกเห็นผลที่คุณบ่มเพาะเอาไว้เอง!
  • ปัญหาเรื่องเวลาหรือความเร่งรีบก็จะหมดไปเช่นกันเพราะคุณจะมีเวลาว่างมากขึ้นเป็นอีกเท่าตัวแถมยังไม่ต้องเร่งรีบอะไรเลยเพราะมันก็เป็นงานส่วนตัวของคุณไม่มีใครมานั่งบนให้คุณถ้าคุณทำอะไรผิดเวลา​ เป็นต้น

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นจะหมดไปเพียงแค่เราลองนำเอาแนวทางของเกษตรกรรมแบบธรรมชาติมาปฏิบัติ​อย่างจริงจัง​ หรือนำไปปรับใช้ร่วมกับแนวทางของคุณดูว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ทั้งนี้​ ฟูกูโอกะ​ เขายังกล่าวอีกว่า​: ระบบการเกษตร​ปัจจุบัน​ตั้งอยู่บนหลักการ​  2 อย่าง​ คือ​ความมักง่ายและความรุนแรง​  ความมักง่ายก็คือเมื่อคนแลเห็นดินก็จะมองว่ามันเป็นแค่ดินหากปลูกพืชผักหรือผลไม้​ ถ้ามันไม่โตก็แค่ใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงกันเข้าไป​ โดยไม่คำนึงถึงด้านโครงสร้างของดินเลย​ ส่วนความรุนแรงก็คือเกษตรกร​ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการกำจัดวัชพืชหรือศัตรู​พืชโดยการฉีดพ่นทำลายโดยตรง​ เช่น​ ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า​ ยาฆ่าแมลง​ ยาฆ่าเชื้อรา​ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆเหล่านั้นก็ลดจำนวนน้อยลงไปทุกที

ระบบเกษตรกรรมในปัจจุบั​นพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติ​ด้วยวิธีการควมคุมและบังคับธรรมชาติ​ไปในทิศทางที่มนุษย์​ต้องการเพื่อสนองต่อความต้องการของคนกลุ่มน้อยที่มีกำลังซื้อ​ เช่น​  ปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศเขตร้อนหรือในทางกลับกัน​ รวมถึงการบังคับให้ผลไม้ออกผลนอกฤดูกาล​ นั้นเป็นไปได้ก็เพราะมีการใช้ปุ๋ยเคมี​ ฮอร์โมน​เร่งการเติบโต​ ยากำจัดวัชพืชศัตรู​พืชและยาฆ่าเชื้อราอย่างหนัก​ เพื่อที่จะมีพืชผักหรือผลไม้นอกฤดูกาล​ สิ่งนี้ส่งผลให้เรามองเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าทำไมบริษัทที่ผลิตปุ๋ยเคมีและบริษัท​ที่ผลิตสารเคมีเพื่อการเกษตร​กำลังขยายกิจการกันเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกก็เพราะว่าเกษตรกร​ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการทำเกษตร​แบบผิดธรรมชาติ​ ไม่ตามธรรมชาติ​ และหวังจะเอาชนะธรรมชาติกันให้ได้​ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ต่อภัยทางธรรมชาติ​อยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง​ โดยเฉพาะ​เรื่องสุขภาพ​ของเกษตรกร​เองและผู้บริโภคเป็นล้านๆที่ไม่รู้ว่าอาหารที่พวกเขารับประทาน​กันอยู่นั้น​ มาจากไหน​ ถูกผลิตด้วยวิธีการแบบใด​ และมีคุณค่าทางโภชนาการ​หรือไม่​ เป็นต้น

ถ้าเรามานั่งคิดวิเคราะห์​ดูอย่างหนักแน่นเราก็จะพบว่าระบบการเกษตร​ที่ใช้อยู่ในปัจจุบั​นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ​สูงขึ้นแต่อย่างใด​ เนื่องจากว่า​สูญเสียพลังงานไปมากกว่าที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ​ เมื่อเทียบกับระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ใช้พลังงานน้อยกว่าแต่กลับได้ผลผลิตที่เป็พลังงานมากกว่าอย่างเหลือเชื่อ!

นอกจากนี้แล้ว​ ระบบการเกษตร​ที่ใช้อยู่ในปัจจุบั​นใช้ทรัพยากร​ที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เช่น​ น้ำมันดิบ​ ถ่านหิน​ ก๊าชธรรมชาติ​และแร่ธาตุ​ต่างๆในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเสียที่เป็นมลพิษ​ต่อ​ ดิน​ น้ำ​ และอากาศ​ รวมถึงสิ่งปนเปลื้อนที่มากับอาหารที่ผลิตได้อีกต่างหาก​ นั่นก็คือปัญหาระยะยาวที่ไม่รู้จะแก้ไขได้อย่างไร​ เลยปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นและกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้น ดังนั้นแล้ว​ แนวคิดของเกษตร​กรรมแบบธรรมชาติ​จึงถือเป็นหลักการอย่างเป็นรูปธรรม​ในการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน​ “การปฏิวัติยุค​ด้วยฟางเส้นเดียว​ จะเปลี่ยน​ระบบการเกษตร​ปัจจุบัน​ให้เป็นระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เพื่อที่จะยังสามารถ​ทำการเกษตรได้อย่างกลมกลืน​กับสภาพแวดล้อม!

คุณ​ฟูกูโอกะยังอธิบายเกี่ยวกับการเพาะปลูก​ด้วยว่า​ หลักการเพาะปลูก​มีอยู่​ 3 วีธี ดังนี้

  • การเพาะปลูก​แบบธรรมชาติ
  • การเพาะปลูก​แบบพื้นบ้าน
  • การเพาะปลูก​แบบใช้สารเคมี

ทั้งสามวิธีการต่างก็ให้ผลผลิตที่ไม่แตกต่างกัน​

การเพาะปลูก​แบบธรรมชาติ​: จะเห็นความแตกต่างเรื่องของ​คุณภาพ​ของดิน​อย่างชัดเจน​ ดินในที่นาของคุณ​ ฟูกูโอกะดีขึ้นในแต่ล่ะฤดูกาลตลอดระยะเวลา​ 25​ ปี​นับตั้งแต่เขาเลิกไถพรวนดิน​ ที่นาของเขาอุดมสมบูรณ์​มากขึ้นรวมถึง​โครงสร้างของดินและความสามารถ​ในการกักเก็บน้ำในดินก็ดีมีประสิทธิภาพ​ยิ่งขึ้นในทุกๆปี​

การเพาะปลูก​แบบพื้นบ้าน​: สภาพดินที่ผ่านการเพาะปลูก​ปลูกเป็นเวลาหลายปีจะคงสภาพ​เดิม​ ชาวนาจะได้ผลผลิตตามสัดส่วนของปุ๋ยหมักกับมูลสัตว์​ที่พวกเขาใส่ในนา

แต่การเพาะปลูก​แบบใช้สารเคมี​: “จะไร้ซึ่งชีวิต”  และความอุดมสมบูรณ์​ตามธรรมชาติ​จะถูกผลาญไปภายในเวลาอันสั้นเนื่องจากสารเคมีที่ออกฤทธิ์​รุนแรงต่อจุลินทรีย์​และอินทรียวัตถุ​ในดินส่งผลให้ระบบการทำงานร่วมกันของสิ่งมีชีวิตในดินบกพร่อง​ ดินจึงขาดความสมดุล​หรือไม่มีสารอาหารในดิน​

“เกษตร​กรรมธรรมชาติสามารถ​ช่วยฟื้นฟูสภาพดินที่ถูกทำลายจากวิธีการเพาะปลูก​อย่างมักง่ายหรือจากการใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

คุณฟูกูโอกะยังยืนยันว่าวีธีการควบคุมโรควัชพืช​และแมลงที่ดีสุดก็คือการปลูกพืชผักหรือผลไม้ในสิ่งแวดล้อมที่มีความสมดุล​ทางระบบนิเวศวิทยา​ เพราะจะมีความกลมกลืนระหว่างแมลงที่กินแมลงอื่นอาศัยอยู่ร่วมกันส่งผลให้มีปัญหาเรื่องแมลงหรือหนอนกินใบน้อยลงเพราะธรรมชาติ​ดูแลระบบของตัวเองเป็นอย่างดี​ การเปลี่ยนแปลง​ไปสู่เกษตร​ธรรมชาติ​นั้นต้องใช้เวลามากกว่า​ 2-3​ ปี​ ขึ้นไป​ ความจริงอีกหลายอย่างที่เขากล่าวไว้ซึ่งให้แง่คิดดีๆกับพวกเรา​ อาทิเช่น​

“สิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องโบราณ​คร่ำครึและล้าหลังกลับกลายเป็นความก้าวหน้าที่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์​แผนใหม่อย่างคาดไม่ถึง”

​ “ธรรมชาติ​ไม่เคยเปลี่ยนแปลง​ แม้ว่าวิธีการมองดูธรรมชาติ​จะเปลี่ยนไป​อย่างมากจากยุคสมัยหนึ่งสู่อีกยุคสมัย​หนึ่ง​ แต่ไม่ว่าจะยุคสมัย​ใด​ เกษตร​กรรมธรรมชาติ​จะยังคงเป็นต้นกำเนิดของเกษตร​กรรมตลอดไป”

“การปลูกผักบ้านกึ่งผักป่า” หมายถึงการปลูกพืชผักและผลไม้หรือสมุนไพรแบบเพียงแค่หว่านเมล็ดพันธุ์​นานาชนิดที่คุณชื่นชอบลงสู่พื้นดินตามบริเวณที่ทำการเพาะปลูก​ เช่นเดียวกับพืชผักป่าและผลไม้ป่าหรือสมุนไพร​ที่เกิดเองในป่าจากต้นแม่หรือจากสัตว์​ที่กินเมล็ดแล้วก็เอาไปปลูกต่อที่อื่น​ และปล่อยให้พืชผักเหล่านั้นเกิดเองร่วมกันกับวัชพืชต่างๆ​ จากนั้นคุณจำเป็นจะต้องสอดแนมอย่างละเอียดว่า​ พืชผักชนิดใดหรือ​ผลไม้อะไร​และสมุนไพร​ชนิดไหนบ้างที่เกิดดี แข็งแรง​ และทนทาน​ ต่อวัชพืช​หรือชนิดใดที่ไม่เกิดเลยเพราะต่อสู้กับวัชพืชไม่ได้​ ด้วยวิธีการลองผิดลองถูกจะช่วยให้เราทราบถึงพืชผักชนิดใดแข็งแรงและเหมาะสำหรับการปลูกแบบกึ่งผักป่าได้​ อาจจะเสียเวลาแต่ในสุดท้ายก็ได้ผลลัพท์​ที่ไม่ต้องเอากลับมาลองอีกนั่นเอง​  และคุณประโยชน์​ทางโภชนาการ​ของพืชผักผลไม้หรือสมุนไพรที่ปลูกเช่นนี้จะสูงมากกว่า​พืชผักหรือผลไม้ที่ปลูกด้วยสารเคมีอย่างสิ้นเชิงและนั่นก็คือที่มาของคำว่า​ อาหารและยา​ ซึ่งอาหารและยาไม่ใช่สองสิ่งที่แตกต่างกัน​ มันเป็นสองด้านเดียวกัน​ ผักที่ปลูกด้วยสารเคมีใช้เป็นผักได้แต่ใช้เป็นยาไม่ได้​  แต่พืชผักและผลไม้รวมถึงสมุนไพร​ที่ยังเป็นสายพันธุ์​เดียวกันกับสายพันธุ์​ป่าหรือสายพันธุ์​ต้นกำเนิดก็จะมีรสชาติที่ดี​และมีคุณค่าทางหาหารสูงมากกว่าสายพันธุ์​ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม​เป็นหลายพันเท่า!   การปลูกมันและเผือกเหมาะสมมากที่จะเอามาปลูกในลักษณะ​กึ่งป่าเพราะมีความแข็งแรงสูง​ เพียงแค่ปลูกครั้งเดียวหลังจากนั้นมันก็จะแตกหัวใต้ดินเกิดเองต่อไปเรื่อยๆตามวงจรชีวิตของพืชแต่ล่ะชนิด​ สมุนไพร​หรือเครื่องเทศสำหรับนำไปประกอบอาหาร​ อาทิเช่น​ ตระไคร้​ ขมิ้น​ ขิง​ ข่า​ กระชาย​ จำพวกนี้ปลูกง่ายโตเร็วก็ปลูกแบบกึ่งป่าได้อย่างเหมาะสม​

อาหารธรรมชาติ​และการตลาด:

การปลูกผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี​ ไม่ใส่ปุ๋ยหรือไม่ไถพรวนดินทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง​ ดังนั้น​ กำไรสุทธิ​ของเกษตรกร​จะสูงขึ้น​ แต่ถ้าปลูกแบบใช้สารเคมีก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นและกำไรสุทธิ​ก็เท่ากับที่ลงทุนไปแล้วหรือน้อยกว่าแล้วแต่ว่าคุณเพาะปลูก​พืชผักชนิดใด เราจะเลือกแบบไหนล่ะ? แบบแรกหรือแบบที่สอง

อาหารธรรมชาติ​  หมายถึง​อาหารที่เกิดเองตามธรรมชาติ​หรือที่เก็บเกี่ยวได้จากในป่าหรือในสวนหรือไร่นาของเราเอง​ ซึ่งไม่มีวงจรของอาหารที่มาจากต่างถิ่น​ เช่น​ อาหารกระป๋อง​ต่างๆที่เราเจอในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต​ไม่ใช่อาหารธรรมชาติ​ อาหาร​ที่ถูกบรรจุ​ไว้ในกระป๋อง​เป็นอาหารที่ผ่านการควบคุมดูแล​ของเครื่องจักร​เพื่อที่ว่าจะสามารถ​เก็บไว้ได้นานๆและกินได้ตลอดเวลาและต้องใช้เวลาในการผลิตในจำนวนมากรวมถึงต้องขนส่งไปยังจังหวัดต่างๆซึ่งเสียพลังงานไปเยอะแล้ว​แต่เรื่องพลังงานทางโภชนาการ​ที่เราจะได้กลับมีแค่นิดเดียวหรือไม่มีเลยจากอาหารกระป๋อง​ ซึ่งในทางกลับกัน​ ผักป่าหรือผักพื้นบ้านที่เราปลูกไว้​ รวมถึง​ อาหารจำพวก​ กุ้ง​ หอย​ ปู และปลาต่างๆ​ ที่สามารถ​หาได้ตามแหล่งห้วยหนอง​คลองบึงใกล้บ้าน​หรือในทุ่งนา อาหารเหล่านี้คืออาหารธรรมชาติ​อย่างแท้จริง​ ไม่เสียพลังงานในการบรรจุหีบห่อ​และการขนส่ง​ แถมยังให้พลังงานทางโภชนาการ​สูงอีกด้วย​ และที่สำคัญเรารู้ว่า​ อาหารที่เรากินนั้นมันมาจากที่ไหน​ ได้มาอย่างไร​ เป็นต้น  ดังนั้น​ ระบบเกษตร​กรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการผลิตด้วยเครื่องจักร​ขนาดใหญ่มาเป็นเกษตร​กรรมขนาดเล็ก​ ทำงานด้วยตนเองหรือร่วมด้วยช่วยกันภายในชุมชนของตน​ ลดความเป็นอยู่ทางวัตถุ​ที่ฟุ่มเฟือย​และเรื่องอาหารการกินควรจะเรียบง่าย​ เพื่อที่เราจะได้มีความสุขไปกับการทำงานเกษตร​

เกษตรกร​รุ่นใหม่​ จำเป็นจะต้องสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ได้ กล่าวคือ​จะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการมีแหล่งอาหารที่ได้จากผืนดินที่ตนเองอาศัยอยู่​ ชุมชน​ที่ไม่สามารถ​พึ่งพาตนเองทางด้านอาหารจะอยู่ได้ไม่นาน! ​ หากคุณกำลังมีแนวคิดที่จะกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดและประสงค์​จะทำการเกษตร​แบบใดก็ตาม​ คุณจะต้องให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพ​และจิตวิญญาณ​ทั้งของตัวคุณเองและของธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อมที่คุณจะเข้าไปทำการเพาะปลูก​อีกด้วย​ จึงจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด  การเกษตร​แบบไม่กระทำหรือเกษตร​กรรมธรรมชาติ​จึงเป็นเกษตรกรรม​ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเราสร้างความผูกพันธ์​กับสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัย​อยู่ได้อย่างกลมกลืน​ภายในระยะเวลาอันสั้นถ้าเรานำเอาแนวทางต่างๆที่อธิบาย​ไว้เบื้องต้นไปปฏิบัติ​อย่างจริงใจ​และจริงจัง!

สวนฟื้นฟูวิถี​ยั่งยืน​ของเรา:

ปลูกพืชผักร่วมกันหลายชนิดในแปลงผักจะช่วยลดปัญหา​แมลงกัดใบได้เยอะและปลูกผักแบบกึ่งป่าพืชผักจะโตแข็งแรงและทนต่อโรคได้มากกว่า!

ก็ได้นำเอาแนวทางของการเกษตร​แบบไม่กระทำและเกษตร​กรรมธรรมชาติ​มาปฏิบัติอยู่หลายแนวทางในการทำสวนเกษตร​แบบผสมผสาน​ อาทิเช่น​ การปลูกพืชผักหมุนเวียนอย่างหลากหลาย​ปะปนกันไปตามฤดูกาลโดยจะปลูกพืชผักแบบไม่ซ้ำกันในแปลงเดิม​ ถ้าแปลงไหนปลูกถั่วฟักยาวแล้วครั้งหน้าก็จะปลูกพริก ครั้งหน้าก็จะปลูกมะเขือ​ครั้งหน้าก็จะปลูกฟักทอง​ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆอย่างเป็นวัฏจักร​  หรือปลูกพืชผักหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน​ (การทดลองเช่นนี้จะทำให้เราทราบว่าพืชผักชนิดใดโตง่ายโตเร็วและแข็งแรงรวมถึงพืชผักชนิดใดบ้างที่เกิดง่ายร่วมกันกับชนิดใดในสภาพดินแบบไหน​เป็นต้น)​ ซึ่งตอนนี้ก็ได้ผลลัพธ์​ที่ดีมากพบแมลงที่มากัดกินใบพืชผักก็น้อยลงพืชผักก็โตร่วมกันได้เร็วมาก​ แต่นั่นก็เพราะว่าพวกเราดูแลดีและเอาใจใส่เหมือนเป็นลูกของเราเลยเชียวล่ะ​ รวมถึงการปลูกหญ้าถั่วดินสำหรับเป็นพืชคลุมดินและตรึงไนโตรเจน​เพื่อปรับความสมดุล​ของหน้าดินในระยะยาว​

และสวนเราจะเน้นปลูกพืชผักพื้นบ้านรวมกัน​ซึ่งสวนเราจะปลูก​พืชผักต่างๆ​ประมาณ 3-4 รุ่น​ เพื่อที่จะได้เก็บเมล็ด​พันธุ์​ที่แข็งแรงเอาไว้สำหรับการเพาะปลูก​ต่อไปในแต่ล่ะฤดูกาล​ ​วิธีการนี้เราไม่ต้องไปซื้อเมล็ด​พันธุ์​พืชผักที่ตัดต่อพันธุกรรม​มาเนื่องจากไม่สามารถ​ปลูกต่อได้และพืชผักก็ไม่แข็งแรงต้องดูแลเยอะ​ ​ฉะนั้นแล้วการที่เราสามารถ​เก็บเมล็ด​พันธุ์​พืชผักเพื่อปลูกต่อเองได้จะดีมากที่สุดและมีความ​มั่นคงในระยะยาว​

นอกจากจะเน้นปลูกผักพื้นบ้านแล้วสวนเรายังเน้นกินผักป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ​อีกด้วย​ วิธีนี้เราไม่ต้องดูแลผักป่าเลยเพียงแต่เราต้องศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของผักป่าตามสภาพแวดล้อม​ของเราหรืออาจจะจากประสบการณ์​ของตนเองร่วมกับการสอบถามกับคนที่รู้จักผักป่าหลายชนิด​ เช่น​ คนแก่คนเฒ่า​เขาจะยังจดจำผักป่าและผักพื้นบ้านได้ดีมากที่สุด​ ซึ่งเราเองก็ทำเช่นนั้น​  เมื่อเรากินผักป่าบ่อยมากขึ้นตัวเราหรือร่างกายของเราจะชินกับรส​ฝาด​ รสขม​ หรือแม้กระทั่งรสเผ็ดได้ เช่น​ รสชาติ​ข่าป่า​ จะเผ็ดแรงดีกว่าข่าบ้าน​ ซึ่งรสชาติ​เหล่านี้ถือเป็นรสแท้ของพืชผักป่านั่นเอง​​ หลังจากที่เรารู้จักและชื่นชอบในรสชาติ​ของพืชผัก​ทั้งพื้นบ้านและผักป่าแล้วเราก็จะกลับไปกินผักตลาดไม่ได้อีกต่อไป​ ด้วยความที่ว่ารสชาติ​ของพืชผักป่าที่เกิดเองในธรรมชาติและผักพื้นบ้านที่เราปลูกเองจะมีรสชาติดีมาก​อย่างไม่น่าเชื่อ​ ไม่มีรสที่จืดชืด​เหมือนผักตามท้องตลาด​

ทั้งหมดที่กล่าวไปสวนของเราก็หวังเช่นกันว่าในอนาคต​งานเพาะปลูก​ของเราจะลดน้อยลง​และสามารถ​ที่จะปล่อยพืชผักให้เติบโตเองตามธรรมชาติ​ได้​ เพื่อที่จะได้เห็นความสมบูรณ์​ของสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติ​ดูแลกันเองและงานของพวกเราก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆในแต่ล่ะฤดูกาล!

No comments.