กินอะไรดี ถ้าอาหารในร้านค้าหมด
มาดูวิธีการเรียบง่าย ใช้ในระดับท้องถิ่น กับเรื่องระบบความหยืดหยุ่นทางอาหาร และความมั่นคงทางอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตอน 4: ความหลากหลายทางอาหารหลัก – กล้วย (Staple food diversification – Bananas and Plantains)
หมายเหตุ: บทความตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความทั้งชุด ซึ่งเราพาไปสำรวจหาหนทางออกสำหรับมรสุมปัญหาที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ คลิกอ่านบทก่อนหน้าที่นี่ตอนที่ 3: ความหลากหลายทางอาหารหลัก – มันห้านาที หัวเผือก และหัวมันป่าหลายชนิด ( Staple food diversification – Cassava, yams and various wild tubers)
หรือคลิกกลับไปยังหน้าแรกพร้อมสารบัญทั้งหมดที่นี่
กล้วยจัดเป็นพืชอาหารหลักที่ถูกประเมิณคุณค่าไว้ต่ำจนเกินไป (นอกเหนือไปจากในแถบแอฟริกากลางแล้ว) มีพืชอยู่ไม่หลายชนิดที่ออกผลให้กินอย่างรวดเร็ว และเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ได้มากเท่ากับกล้วย กล้วยเป็นหนึ่งในพืชที่นำมาเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงแรกสุดในทุกพื้นที่ของภูมิภาคนี้ จากหลักฐานที่พบครั้งแรกๆ ก็เมื่อตอน 10,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย กล้วยทั้งต้นสามารถนำไปประกอบอาหารได้หมดเลย ได้แก่ เหง้าหัว (rhizome) ลำต้นเทียมอ่อนข้างใน (inner pseudostem) ดอกปลี ลูกผล ทั้งดิบและสุก นอกจากนี้ก็ยังนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ใช้เส้นใยของกาบต้นกล้วยไปทำเชือก หรือ ใช้ก้านใบเป็นคันร่มกันแดดฝน ใช้ใบทำหลังคาชั่วคราว ใช้ใบตองเป็นจานใส่อาหาร หรือ ใช้ห่อใส่อาหารได้ทั้งอาหารคาว และเมนูขนมหวาน ที่สำคัญยังสามารถนำไปทำของเล่นพื้นบ้านให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย เช่น ใช้กาบและก้านใบทำม้าก้านกล้วย ใช้ก้านใบทำปืนเด็กเล่น เป็นต้น เนื่องจากว่า ต้นกล้วยเป็นพืชที่ค่อนข้างทนทานต่อสภาพน้ำท่วมและสภาพแห้งแล้ง (flood- and drought-tolerant) หลังจากที่กล้วยเติบโตสมบูรณ์แล้ว แม้แต่หลังเกิดพายุเฮอริเคนหนักสุด กล้วยก็จะยังแตกหน่อโตได้อีก กล้วยปลูกได้กับทุกสภาพดิน และจำเป็นต้องดูแลน้อยมาก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเยี่ยมสุด เพื่อจะทำให้อาหารการกินของเราหลากหลายยิ่งขึ้น
สำหรับผู้คนโดยส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะไม่ค่อยจะกินผลกล้วยดิบเป็นประจำสักเท่าไหร่ คงจะมีการนำผลดิบไปประกอบอาหารในบางเมนู อย่าง แกงไตปลาจากทางภาคใต้ ตำกล้วยดิบจากภาคอีสาน แต่ปกติแล้วจะไม่ใช้กล้วยบ่อยเท่าไหร่ แต่ยังมีผู้คนเป็นอีกล้านๆ คนที่ต้องพึ่งพากล้วยสุก และกล้วยดิบซึ่งใช้ประกอบอาหารกินทุกวันทั่วโลกอีกด้วย กล้วยจึงจัดเป็นพืชชนิดสำคัญ ลำดับที่ 4 ในโลก (รองลงมาจากพืชจำพวกข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด) และเป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมอีกด้วย ในบางพื้นที่ เช่น ในประเทศแถบร้อนชื้น อย่าง ประเทศแอฟริกา กล้วยเป็นหนึ่งในพืชแป้งชนิดที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูงมาก ดูได้จากตัวอย่างของ ประชากรชาวยูกันดาโดยเฉลี่ยแล้ว จะบริโภคกล้วยเป็นกว่า 200 กิโลกรัม ต่อปี และ ในแถบชนบทมีอัตราการบริโภคกล้วยเป็นรายบุคคลสูงถึง 440 กิโลกรัม ต่อคนและต่อปี! นี่ก็คือภาพรวมถึงว่ากล้วยถูกประเมินค่าไว้ต่ำมากเท่าไหร่ในแง่การใช้เป็นพืชอาหารหลักของเรา (staple food) เมื่อพิจารณาดูจากปริมาณการบริโภคด้านบน ส่วนตามที่พวกเราเก็บเกี่ยวได้ในสวนนั้น (ซึ่งสภาพดินส่วนใหญ่ยังไม่ดีนัก) เราได้เครือกล้วยที่หนักประมาณ 30 กิโลกรัมต่อหนึ่งเครือ (บางครั้งก็หนักกว่านี้ หรือน้อยกว่า แล้วแต่ชนิดพันธุ์) ถ้าคุณอยากกินกล้วยเป็นพืชอาหารหลัก คุณจำเป็นที่จะต้องปลูกกล้วยให้ได้เป็น 10 ต้น โดยประมาณ (เพื่อความมั่นใจ) ถ้าอยากจะได้บริโภคในปริมาณเดียวกันกับชาวยูกันดาโดยเฉลี่ย และต้องปลูกกล้วยประมาณ 20 ต้น เพื่อจะได้บริโภคเยอะเท่ากันกับชาวบ้านยูกันดาในแถบชนบท (หรือถ้าหากสภาพดินของคุณดีมาก ก็ปลูกน้อยกว่านั้นได้) จำนวนนี้ก็ไม่ถือว่าเยอะเลย! แม้แต่กับคนที่มีพื้นที่น้อยๆ ก็ยังสามารถปลูกกล้วยได้เป็น 10 ถึง 20 กอเลยทีเดียว!
แน่นอนว่า กล้วยมักจะออกผลให้กินต่างเวลากัน และโดยเฉพาะถ้าคุณปลูกกล้วยทั้ง 20 ต้นไว้พร้อมกัน คุณก็จะมีช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณหนึ่งปีกว่าๆ หลังจากปลูก) ที่คุณจะมีกล้วยให้กินมากกว่า จนแทบจะกินไม่ทันเลย และมีช่วงอื่นๆ อีกที่คุณแทบจะไม่มีกล้วยให้กินเลย ครั้งละเป็นเดือนๆ ก็มี การออกผลให้กินไม่ตลอดเช่นนี้ คือความท้าทายหลักๆ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพิจารณาให้กล้วยเป็นพืชอาหารหลัก (เพราะไม่ใช่ว่ากล้วยจะออกผลให้มีกินตลอดทุกวัน และทั้งปี) แต่ก็แก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ โดยการแบ่งหน่อออกไปปลูกต่ออย่างต่อเนื่อง หรือปลูกเป็น 40 ต้นแทนที่จะปลูกเพียง 20 ต้น (หรือปลูกทั้งสองแบบ) เช่นเดียวกันกับผลไม้ตระกูลขนุน (Artocarpus spp.) หากมีกล้วยส่วนเกินที่เหลือกิน ก็ยังนำเอาไปเลี้ยงไก่ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นคุณก็จะไม่เคยต้องมี “กล้วยเยอะจนเกินไป” ทางออกอีกอย่างหนึ่งก็คือนำเอาไปแบ่งปันกับผู้คนในชุมชนของคุณเอง เมื่อใดก็ตามที่มีเครือกล้วยแก่เต็มที่ และพร้อมตัดเก็บมากิน ก็สามารถนำไปแบ่งให้เพื่อนบ้านได้เลย (ถ้ากินไม่ทัน)
ข้อดีของการนำผลดิบไปใช้ก็คือว่า คุณสามารถเก็บเกี่ยวตอนไหนก็ได้ คือคุณเก็บกล้วยได้ตอนที่ผลกล้วยใหญ่มากพอ เมื่อผ่านไปแล้วเป็นหลายเดือน ในขณะที่ ถ้ามีเครือที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (สุกพร้อมเก็บ) คุณก็จะได้กินกล้วยอยู่ไม่หลายวัน (เพราะสุกงอมเร็วมาก)
กล้วยจัดแบ่งประเภทออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กล้วยชนิดที่ใช้กินผลดิบ (หรือ Plantains Bananas) และ กล้วยชนิดที่กินสุกเป็นของหวาน (หรือ Dessert Bananas) แต่ความจริงตามลักษณะพันธุกรรมจะซับซ้อนมากกว่า เราจะไม่อธิบายละเอียดจนเกินไป จึงขอสรุปสั้นๆ ว่า ชนิดพันธุ์กล้วยโดยส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบันนี้ ต่างก็แตกสายพันธุ์ออกมาจาก ไม่ประเภทใดก็ประเภทหนึ่งที่กล่าวไป หรือเป็นพันธุ์ผสมมาจากบรรพบุรุษทั้งสองชนิดพันธุ์ ได้แก่ กล้วยชนิด Musa acuminata (เรียกว่ากลุ่ม “A” เป็นพันธุกรรมของกล้วยป่า) และ Musa balbisiana (เรียกว่ากลุ่ม “B” เป็นพันธุกรรมของกล้วยตานี) ซึ่งจัดเป็นชนิดกล้วยกินสุก (Dessert Bananas) จึงมีพันธุกรรมส่วนใหญ่เป็นกล้วยกลุ่ม A เช่น กล้วยหอมเขียว (Cavendish) โดยทั่วไปจะหวานกว่าและนิ่มกว่า ส่วนกล้วยกลุ่มชนิดพันธุ์ที่ใช้ผลดิบ (หรือ Plantains Bananas) เป็นชนิดอยู่ในกลุ่มพันธุกรรมของ B มากกว่า หรือมีพันธุกรรมแค่ในกลุ่ม B อย่างเดียว เช่น กล้วยหิน หรือ Saba Bananas โดยทั่วไปมักจะมีลูกผลใหญ่กว่า และผิวเนื้อแน่นกว่า ชนิดพันธุ์กล้วยส่วนใหญ่จะมีพันธุกรรมจากทั้งสองกลุ่มใหญ่ คือบางครั้งมีพันธุกรรมจากกลุ่ม A มากกว่า หรือจากกลุ่ม B มากกว่า และบางครั้งก็มีทั้งสองพันธุกรรมเท่ากัน ตัวอย่างเช่น กล้วยที่เป็นที่รู้จักกันมากสุดในประเทศไทย (และมีสารอาหารสูง) นั่นก็คือ กล้วยน้ำว้า หรือ Pisang Awak ในภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นกล้วยที่จัดอยู่ในกลุ่มชนิดพันธุ์ของ AABB และจึงมีพันธุกรรมสามกลุ่ม และมีจำนวนโคโมโซมอยู่ 4 ชุด (โมเลกุลพันธุกรรม) คือ สองชุดเป็นพันธุกรรมของ M. acuminata (A) และอีกสองชุดเป็นพันธุกรรมของ M. balbisiana (B)
ทั้งนี้แล้ว ก็ยังมีชนิดกล้วยอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากพวกไปเลย อย่าง กล้วยนวล หรือ Snow Banana ( คือสกุล Ensete glaucum ซึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ออกหน่อเลย (ปลูกต่อจากเมล็ดเท่านั้น) และ กล้วย Fe’i Banana ซึ่งเป็นชนิดที่มีพันธุกรรมมาจาก สกุล M. peekelii และสกุล M. lolodensis ทั้งสองชนิดนี้มาจากหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือบนหมู่เกาะพอลินีเซีย
โดยปกติแล้ว ผู้คนจะกินกล้วยที่ใช้ผลดิบ (Plantains Bananas) เป็น “กล้วยทำอาหาร หรือ Cooking Bananas” และใช้กล้วยที่กินผลสุก (Dessert Bananas) เป็นขนมหวาน หรือกินเป็นของหวานตามชื่อเรียกของมันเลย ตามความจริงแล้ว ทั้งสองชนิดนี้ก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งนั้น ถ้าเก็บลูกดิบมากิน และกล้วยชนิดที่กินผลสุกบางชนิดต่างก็กินอร่อยมาก เมื่อนำมาทำใส่อาหาร! นอกจากนี้แล้ว ยังมีชนิดพันธุ์กล้วยเป็นอีกร้อยๆ ชนิดในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในสวนผสมถาวรของพวกเรา ณ ตอนนี้ปลูกกล้วยต่างชนิดกันเป็นประมาณ 30 ชนิดพันธุ์) ทุกชนิดมีรสชาติต่างกันโดยสิ้นเชิง และแต่ละชนิดก็มีสภาพจำเพาะของตน บางชนิดชอบช่วงฝน ชนิดอื่นๆ กลับชอบช่วงแล้งที่นานกว่า บางพันธุ์ชอบแดดจ้า ส่วนอีกพันธุ์ก็ชอบอยู่ร่มๆ (ร่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ก็ยังโตได้)
ทั้งกล้วยชนิดที่กินผลสุก และชนิดที่กินผลดิบ (ถ้าสุกงอมสุดๆ) ก็กินอร่อยเป็นอย่างมาก และมีรสชาติให้ลิ้มลองแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ ปกติแล้วพวกเราจะกินกล้วยเป็นอาหารเช้า บางครั้งกินเป็น 2 หวี (แล้วแต่ว่าผลใหญ่รึเปล่า) และพอเป็นช่วงกลางวัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกหิวขึ้นมาก็จะกินกล้วยกันทันที การกินกล้วยเป็นอาหาร ก็เป็นวิธีที่เหมาะสุดต่อระบบทางเดินอาหารของคุณ และแบบนี้คุณก็จะไม่เคยต้องมีอาการท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อยเลย ส่วนถ้ากินกล้วยผลสุกห่าม ที่ยังมีเปลือกผิวสีเขียวอยู่บ้าง ก็จะช่วยรักษา หรือป้องกันอาการท้องเสียได้อีกด้วย และน้ำยางด้านในที่ไหลออกจากสำต้นยังสามารถดื่มเป็นตัวย่อยอาหาร และช่วยลดอาหารปวดท้องได้อีกต่างหาก
ผลกล้วยสุก ยังสามารถนำไปทำเป็นแยม ไอศกรีม (ผสมกับกะทิ) ใช้ทำขนมพื้นบ้าน (เช่น ข้าวต้มมัด กล้วยบวชชี) หรือใช้เป็นวัตถุดิบยอดนิยมในการทำ “เค้กกล้วย” ของพวกเรา! ทั้งผลดิบและผลสุกยังสามารถเอาไปทำเป็น กล้วยสุกตากแห้ง และ กล้วยฉาบ ใช้กินเล่นเป็นขนม และยังเก็บเอาไว้กินได้นานกว่า
นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีทำ แป้งกล้วย แสนง่ายอีกด้วย ดังนี้ ตัดผลกล้วยดิบแก่มาปอกเปือก และหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งกรอบ จากนั้นกำนำมาตำให้ละเอียดในครก แล้วก็นำเอาผงละเอียดของกล้วยไปใช้เป็น แป้งทำเค้ก ใช้ได้เหมือนกันเลยกับแป้งข้าวสาลี!
พวกเราไม่ค่อยใช้ผลกล้วยดิบบ่อยเท่าไหร่ (เพราะยังมีข้าวที่กินเป็นอาหารหลักอีกอย่างหนึ่งอยู่ ดังนั้นเราจึงชอบกินกล้วยสุกเป็นผลไม้หวานแทน) และเราก็จะสับเปลี่ยนมากินผลดิบมากขึ้นได้ง่ายๆ ในสถานการณ์คับขัน เราใช้ผลดิบเป็นส่วนผสมเมนู อย่าง ต้มซุป และแกง (โดยปอกเปลือก และต้มเลย) บางครั้งก็ทำกินเป็นอาหารเช้า (เอามาปิ้งย่างกิน)
วิธีการที่กินผลกล้วยดิบแบบง่ายสุดก็คือ แค่โยนใส่ไฟเผาตรงๆ เลย ทำเหมือนกันกับ ผลดิบของลูกสาเก หรือ Breadfruit (ดูตอนที่ 2) คือเผาไฟให้ทั้งสองด้านเป็นสีดำ ผลกล้วยจะบวมขึ้นเล็กน้อย จากนั้นก็รอให้มันเย็น แล้วก็ปอกเปลือกออกและกินได้เลย หรือกินกับเมนูอื่นๆ ได้ตามชอบใจ อย่าง ต้ม ผัด แกง หรือทำเมนูสลัด กล้วยชนิดที่ใช้ผลดิบ หรือ Plantains จะเหมาะสุดสำหรับนำมาเผากิน เพราะกล้วยนี้จะมีเปลือกผิวนอกหนามากกว่า (เนื้อด้านในจึงไม่ไหม้ดำไปด้วย) ส่วนถ้าไม่อยากกินแบบเผาก็สามารถนำเอาผลดิบทั้งลูกไปต้มกินได้ และก็กินเล่นกับอะไรก็ตาม อร่อยเหมือนเดิม!
วิธีทำกล้วยดิบกินแสนง่ายอีกหนึ่งอย่างหนึ่งก็คือ เพียงปอกเปลือกออก แล้วก็นำไปหั่นเป็นชิ้น และเอาไปเพิ่มใส่ในเมนู ต้ม แกงต่างๆ ประมาณ 10-15 นาที กล้วยก็จะนิ่มและสุกแล้ว ส่วนรสชาติที่ได้ก็ค่อนข้างเหมือนกับมันฝรั่ง หรือเผือก วิธีการนี้ยังทำได้กับกล้วยสุกอีกด้วย กินอร่อยเหมือนกัน ยิ่งใส่กล้วยเพิ่มเข้าไปในอาหารของคุณได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งใช้ข้าวน้อยลงไปเท่านั้น (หรืออาหารหลักชนิดอื่นก็เช่นกัน) คุณจึงจำเป็นต้องกินมันควบคู่กันไปให้ได้!
มีการปลูกกล้วยไว้กินเป็นครั้งแรก ก่อนช่วงที่ผู้คนจะมีการหันมาทำเกษตรกันอย่างกว้างขวาง คนปลูกกล้วยเพื่อไว้กินหัวเหง้าใต้ดิน หรือ corms เนื่องจากว่าตอนนั้น ผลกล้วยจะเป็นลูกเล็กๆ และเต็มไปด้วยเมล็ด หัวเหง้าที่ว่านั้นมีรสชาติไม่ค่อยอร่อยมาก แต่ก็ยังกินได้ ถึงแม้จะมีคนเพียงส่วนน้อยที่กินหัวเหง้าเป็นประจำ ในจังหวัดที่พวกเราอยู่นี้ จังหวัด จันทบุรี ยังมีคนที่ทำอาหารพื้นบ้านเมนูนี้อยู่ นั่นก็คือ “เมนูแกงหัวกล้วย” โดยนิยมใช้เหง้าหัวของกล้วยน้ำว้า โดยนำมาปอกเปลือก ล้างน้ำ และนำมาสับเหมือนเส้นมะละกอ หรือสับฝอยๆเหมือนเส้นเมนูซุปหน่อไม้ แล้วก็นำเอาเส้นของหัวกล้วยที่สับไว้ไปใส่ในเมนูแกงได้เลย (ใช้หัวกล้วยเป็นวัตถุดิบหลักของเมนู)
กล้วยในสกุล Ensete species (ไม่แตกหน่อ ปลูกต่อจากเมล็ดเท่านั้น) อย่าง กล้วยนวล มีการนำเอาเหง้าหัวมากินในประเทศเอธิโอเปีย ถึงแม้ว่าจะพบกับวิธีการทำกินน้อย
ดอกปลีกล้วย สามารถนำมาต้ม หรือลวก และกินกับตำน้ำพริก หรือต้มใส่กับเมนูอื่นๆ อย่าง แกงส้ม แก่งอ่อม ผัด และเมนูตุ๋น ปลีกล้วยต่างๆส ามารถกินสดได้ แต่บางชนิดจะออกรสฝาดขมสักหน่อย โดยเฉพาะปลีกล้วยป่า พวกเราใช้วิธีกการหั่นสับแล้วนำไปต้มให้สุก ล้างด้วยน้ำเย็น จากนั้นก็นำเอาปลีกล้วยที่ต้มสุกแล้วไปทำเมนู “ลาบปลีกล้วย” แต่ยังสามารถนำไปผสมกับเมนูอื่นๆได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับ “หัวใจข้างในลำต้น” สีขาว นิ่มๆด้านในของลำต้นเทียม (pseudostem) ทั้งกินอร่อยและกรุบกรอบ ยิ่งตอนที่ใส่หม้อ หรือกระทะอาหารก่อนที่จะยกออกจากเตา (จะอร่อยมาก) ส่วนหัวใจต้นกล้วยก็อุดมไปด้วยเส้นใย ซึ่งสำคัญและดีต่อสุขภาพ ส่วนที่อยู่ด้านในสุดของลำต้นสามารถกินดิบๆ ได้เลย กินเล่น หรือกินเป็นผักสดร่วมกันกับเมนูอาหารอื่นๆ
การเพาะปลูกกล้วย ก็ทำได้อย่างง่ายดาย ขยายพันธุ์โดยการแบ่งหน่อไปปลูกต่อ หรือสำหรับพันธุ์ที่ต้องเพาะจากเมล็ดก็ปลูกต่อจากเมล็ด (แค่อัตราการงอกอาจจะน้อยกว่าเยอะ) และกล้วยพันธุ์ส่วนใหญ่จะออกหน่อเป็นจำนวนมากให้ปลูกต่อ สิ่งที่สำคัญสุดเวลาปลูกหน่อกล้วยก็คือ ขนาดของหลุมที่คุณขุด ดินที่คุณผสม และเศษวัสดุที่ใช้ปกคลุมหน้าหลุม กล่วคือ ยิ่งขุดหลุมกว้างและลึกให้พอเหมาะ กล้วยก็จะยิ่งออกผลให้เรากินอย่างรวดเร็ว พวกเราเคยได้กล้วยที่ออกผลให้กินหลังจากปลูกไม่ถึงหนึ่งปีด้วยซ้ำ เพราะว่าพวกเราปลูกในหลุมที่ลึกเป็น 1 เมตร และขุดหลุมกว้างๆ พอขุดดินออกมาจากหลุม คุณสามารถผสมดินกับเศษอินทรียวัตถุอะไรก็ตามที่คุณมี อย่างเช่นผสมดินกับ ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยหมักซึ่งใช้ดีสุด แต่ถ้าใส่เศษใบไม้แห้ง เศษหญ้า ผงขี้เถ้า เศษอาหารจากครัว หรือเศษเปลือกพืชผัก ก็นำมาผสมดินได้หมดเช่นกัน ยิ่งผสมดินกับหลายอย่างแตกต่างกันออกไป ต้นไม้คุณก็จะยิ่งเติบโตเร็วกว่าเดิมอีก! หลังจากที่ปลูกเสร็จแล้ว จะต้องปกคลุมหน้าหลุมปลูกกล้วยให้หนาๆ จะดีสุด เช่น ใส่เศษกิ่งก้านไม้ ใบไม้ หรือเศษหญ้า ใช้ได้หมดเลย แต่ก็ใส่อะไรก็ได้ตามที่คุณมี ขอแค่ต้องคลุมหน้าหลุมไว้ เพื่อช่วยกักเก็บความชื้นให้ต้นกล้วย (เขาชอบเปียกชื้นอยู่ตลอด) เป็นต้น
มันจะดีมากสุดถ้าได้ปลูกต้นกล้วยไว้ทั่วในสวนป่าอาหาร ปลูกไว้คนล่ะที่กับสภาพดินที่แตกต่างกันไป และเข้าถึงน้ำได้ ถ้าหากอยากจะได้กอกล้วยที่อุดมสมบูรณ์ดี มีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ ให้ปลูกไว้ตามบริเวณที่ปล่อยน้ำทิ้งตลอด (ปลูกไว้แถวที่อาบน้ำ หรือที่ล้างจาน เพราะกล้วยจะได้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ) ในน้ำทิ้งเหล่านั้นมีสารอาหารสำคัญที่ต้นกล้วยเอาไปใช้ได้ทันทีเลย! หากต้นกล้วยได้น้ำตลอดทั้งปี ต้นที่เติบโตเต็มที่จะออกผลให้กินได้ในทุกๆ สอง หรือสามเดือน กล้วยชนิดพันธุ์ที่ใช้ผลดิบ หรือ Plantains ปกติแล้วจะทนทานต่อสภาพลม และสภาพแล้งได้นานกว่า แต่กล้วยทุกชนิดพันธุ์ก็สามารถเพาะปลูกได้ทั่วทั้งภูมิภาคอยู่แล้ว กล้วยมักเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายๆ ถ้าปลูกแบบเชิงเดี่ยว แต่ภัยคุกคามนี้สามารถกำจัดให้หมดไปได้ โดยการเพาะปลูกไว้ในระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่น ปลูกแซมตาม สวนป่าอาหาร Food Jungle (ดูตอนที่ 1) ปลูกร่วมกันกับพืชพันธุ์อื่นๆ เชื้อโรคต่างๆก็จะกระจายไปได้ไม่ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรสร้างความเสี่ยงไว้ตั้งแต่แรก กล้วยบางหน่ออาจจะโดนโจมตีจาก ด้วงงวง เจาะต้นกล้วย หรือ (Banana Root Borer, Cosmopolites sordidus) บ้าง ยิ่งหากต้นไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่หน่อที่โดนด้วงเจาะติดต่อกัน ก็เพียงเอามาผ่าครึ่ง และกำจัดตัวอ่อนของด้วงนั้นไป หรือนำเอาไปทำกินก็ได้
กล้วยต้องการให้ดูแล หรือเอาใจใส่น้อยมาก มีเพียงอย่างเดียวที่คุณช่วยดูแลต้นกล้วยได้ นั่นก็คือ ตัดแต่งก้านใบเหลืองๆ ออก แล้วก็ทิ้งกลบใส่บริเวณเหง้ากอของต้นไว้ หากมีใบแห้งเยอะจนเกินไปมันก็จะดึงดูดเหล่าแมลงเข้ามา ซึ่งบางส่วนอาจจะไปกัดเจาะลำต้นได้ ถ้าคุณอยากได้ผลผลิตเยอะๆ ขอแนะนำให้เก็บหน่อไว้เพียง กอล่ะ 4-5 หน่อ ซึ่งเลือกเก็บไว้ดังนี้ เก็บหน่อใหญ่หนึ่งหน่อ หน่อกลาง หน่อเล็ก และหน่อเล็กสุด ก็พอแล้ว ส่วนหากมีหน่อเกิดขึ้นมาอีก ก็แค่ขุดออกไปปลูกต่อที่อื่น หรือแค่สับทิ้งเป็นปุ๋ยใส่ให้ต้นได้เลย สามารถปลูกกล้วยไว้ด้วยกันกับต้นไม้ทุกประเภทใน สวนป่าอาหาร ระยะแรกๆ (ดูตอนที่1)กล้วยเติบโตรวดเร็ว และจะเป็นร่มเงาให้กับต้นเล็กอื่นๆ ซึ่งช่วยให้สภาพอากาศเฉพาะที่เย็นกว่า และเมื่อมีผลสุกจากต้นใด ก็สามารถสับก้านใบและลำต้นที่เหลือทิ้ง และใส่กลับปกคลุมดินเอาไว้ (ดูตอนที่ 8) การคลุมหน้าดิน หรือ Mulching จากลำต้นกล้วยซึ่งเต็มไปด้วยน้ำจำนวนมาก และมันจะให้ความชุ่มชื้นกับดิน เมื่อนำเอาส่วนที่สับไว้แล้วไปปกคลุมตามบริเวณโคนต้นผลไม้เล็กๆ ในช่วงฤดูร้อน ทั้งไส้เดือนดิน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาศัยอยู่ในดินก็ยังชื่นชอบทุกเศษส่วนของต้นกล้วยอีกด้วย!
ตามชื่อของบทความชุดนี้ ก็ได้ตั้งคำถามง่ายๆไว้ว่า: เราจะกินอะไรได้อีกเนี่ย ถ้าไม่มีอาหารในร้านค้า หรือในตลาดอีกแล้ว และหนึ่งในคำตอบที่แสนง่ายสุดกับคำถมนี้ก็คือ กล้วยนี่เอง เพราะมีคนปลูกกล้วยเป็นจำนวนมากทั่วทั้งภูมิภาคอยู่แล้ว! ถ้าหากว่ามันจะมีช่วงที่ผลเก็บเกี่ยวทางเกษตรล้มเหลวครั้งใหญ่เกิดขึ้น และราคาข้าวพุ่งสูงอย่างฉับพลันตามมา (นั่นหมายความว่า มีแค่คนรวยเท่านั้นที่จะยังซื้อข้าวกินได้) กล้วยก็จะเป็นตัวช่วยให้โล่งอกได้โดยทันที ต่อสถานการณ์อันน่ากลัวเช่นนี้ และในระยะยาว กล้วยต่างก็จะเป็นตัวคุ้มภัยได้อย่างมั่นคง ช่วยป้องกันภัยการหยุดชะงักทางระบบอาหารต่างๆ และยังช่วยสร้าง ความมั่งคงทางอาหาร (Food Security) ในระดับท้องถิ่นได้โดยอาศัยความพากเพียรเพียงนิดเดียวเอง
หมายเหตุ: บทความตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความทั้งชุด ซึ่งเราพาไปสำรวจหาหนทางออกสำหรับมรสุมปัญหาที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ เราจะลงบทความตอนต่อไปเป็นระยะๆ คลิกอ่านต่อที่นี่ ตอนที่ 5: ความหลากหลายทางอาหาร
หรือ คลิกกลับไปยังบทนำได้ที่นี่
คุณชอบบทความชิ้นนี้ไหม? ถ้าบทความแนว “มุ่งอธิบายแนวคิดเป็นองค์รวม” มีประโยชน์ต่อคุณอยู่บ้าง สามารถร่วมสนับสนุนงานเขียนของเราได้ ผ่านการส่งปัจจัยบริจาค (ตามคุณค่าที่คุณได้รับ) งานเขียนแนวนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่เรามุ่งสร้างความเข้าใจใหม่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้กับผู้คนในสังคม ด้วยการสละเวลาส่วนตนของเราเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงในแบบที่แตกต่างไปจากมุมมองเดิมในอดีต ติดต่อส่งความคิดเห็น หรือ อยากวิเคราะห์วิจารณ์งานเขียนได้โดยตรงที่อีเมล์ [email protected] หรือต้องการส่งปัจจัยบริจาคให้กับโครงการอิสระของเรา โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติ สวนฟื้นฟูวิถียั่งยืน ได้โดยสแกนคิวอาร์โคดด้านล่างนี้ โครงงานของเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งไม่มีรายได้เป็นประจำ เราขอขอบคุณทุกท่านมากยิ่งที่สนับสนุนผลงานของเรา ทุกการบริจาคถือเป็นแรงผลักดันให้เราได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัย เขียนบทความ แปลงาน และแบ่งปันความรู้ในแบบองค์รวมให้กับผู้คนในสังคมสืบต่อไป!
No comments.